ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 660
Small_font Large_font

งูสวัด (Herpes zoster)

คำจำกัดความ

โรคงูสวัด ( Herpes zoster) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อ varicella-zoster virus ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้อีสุกอีใส คนที่จะเป็นโรคงูสวัดได้จะต้องมีประวัติเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนและหายไปแล้ว จากนั้นเชื้อไวรัสจะไปซ่อนตัวอยู่ในเส้นประสาทใกล้ไขสันหลังหรือสมอง ต่อมาหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอลง ผู้ป่วยก็จะเกิดเป็นโรคงูสวัดขึ้น

ผู้ป่วยโรคงูสวัดจะมีอาการเป็นผื่นถุงน้ำใสตามแนวเส้นประสาทของผิวหนังครึ่งซีกของร่างกาย สามารถเกิดที่บริเวณใดก็ได้ของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่บริเวณหลังและหน้าอก ร่วมกับมักจะมีอาการปวดมาก

ถึงแม้ว่าโรคงูสวัดจะไม่ใช่ภาวะเร่งด่วนในการักษา แต่งูสวัดก็ทำให้เกิดการเจ็บปวดมาก ดังนั้นการที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว จะช่วยลดระยะเวลาการเป็นโรคและช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อาการ

อาการของผู้ป่วยโรคงูสวัด สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะเตือนก่อนเป็นผื่น (Prodromal phase) : เป็นช่วงที่เริ่มมีการอักเสบของเส้นประสาท ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตามแนวเส้นประสาทครึ่งซีกของร่างกาย แต่ยังไม่มีรอยโรคปรากฏที่ผิวหนัง ระยะนี้จะเป็นอยู่นาน 2-3 วัน

2. ระยะที่มีผื่น (Acute phase) : เป็นช่วงที่มีรอยโรคปรากฏให้เห็นที่ผิวหนังตามแนวของเส้นประสาท โดยลักษณะของรอยโรคจะเปลี่ยนแปลงตามเวลา คือ ระยะแรกจะเห็นเป็นตุ่มน้ำใสอยู่กันเป็นกลุ่มและฐานของตุ่มน้ำเป็นสีแดง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะตกสะเก็ดในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดที่ผื่นอยู่ตลอดเวลา ต่อเนื่องมาจากระยะแรก
ผู้ป่วยที่มีการอักเสบไม่รุนแรง เวลาผื่นหาย จะมีรอยเหลืออยู่แค่ชั่วคราวและไม่เกิดแผลเป็น แต่ในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีการอักเสบลึก ทำให้มีเลือดออกในตุ่มน้ำและอาจกลายเป็นเนื้อตาย ทำให้หลังจากแผลหายจะกลายเป็นแผลเป็น

3. ระยะหลังจากผื่นหาย (Chronic phase) : เป็นช่วงหลังจากที่รอยโรคที่ผิวหนังหายแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะยังมีอาการปวดหลังเหลืออยู่ ซึ่งถ้ารุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความทรมานได้มาก

สาเหตุ

งูสวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella-zoster virus ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคไข้อีสุกอีใส โดยหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนี้เป็นครั้งแรก ผู้ป่วยจะเกิดอาการของโรคไข้อีสุกอีใส หลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะไปซ่อนอยู่ในเส้นประสาทใกล้ไขสันหลังหรือสมอง เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานลดต่ำลง เชื้อไวรัสที่ซ่อนตัวอยู่จะแบ่งตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดจากผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ซ้ำ ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทและเกิดรอยโรคที่ผิวหนังตามแนวของเส้นประสาทนั้น

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคงูสวัดยังไม่ทรายแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับภาวะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง เช่น เมื่ออายุมากขึ้น, เป็นโรคหรือกินยาที่ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์หรือกินยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งในกลุ่มนี้สามารถมีอาการได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ และโรคมักมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ

ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดสามารถแพร่เชื้อไวรัส VZV ไปยังผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้อีสุกอีใสได้ โดยติดต่อกันทางการสัมผัสที่ผื่นโดยตรง ทำให้คนที่สัมผัสเกิดเป็นโรคไข้อีสุกอีใสขึ้น (ไม่ได้ทำให้เกิดโรคงูสวัด)

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยผื่นและปวดดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย :

  • ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในช่วงก่อนมีผื่น มีแค่อาการปวดอย่างเดียว แพทย์มักวินิจฉัยว่าเป็นการเคล็ดยอกของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น
  • ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะที่มีรอยโรคที่ผิวหนังแล้ว ก็จะวินิจฉัยได้ง่าย โดยแพทย์จะตรวจพบผื่นที่มีลักษณะเฉพาะของโรคงูสวัด คือ เห็นเป็นตุ่มน้ำใสอยู่กันเป็นกลุ่มและฐานของตุ่มน้ำเป็นสีแดง ผื่นสามารถพบได้ทุกที่ของร่างกาย แต่จะพบผื่นอยู่แค่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการขูดผิวหนังหรือถุงน้ำไปย้อมพิเศษ (Tranck’s smear) จะพบลักษณะเฉพาะของโรคนี้

ภาวะแทรกซ้อน

  • ในรายที่อายุมากหรือมีภูมิต้านทานต่ำ จะทำให้รอยโรคที่ผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรง จนทำให้มีเลือดออกในตุ่มน้ำได้ (Hemorrhagic vesicle) และอาจกลายเป็นเนื้อตายได้ (Necrotizing lesion) ซึ่งถ้าเกิดภาวะนี้จะทำให้เวลาผื่นหายมักมีแผลเป็นหลงเหลืออยู่
  • มีอาการปวดหลังจากผื่นหายแล้ว (Postherpetic neuralgia) : เป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดจากเส้นประสาทที่ได้รับความเสียหายส่งความรู้สึกเจ็บปวดไปยังสมอง ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรงแตกต่างกัน คือ ผู้ป่วยที่อายุน้อยมักจะมีอาการปวดแค่ชั่วคราวและหายได้เร็ว แต่ในรายที่อายุมากหรือมีภูมิต้านทานต่ำ จะมีอาการปวดเป็นรุนแรงและเป็นอยู่ได้นาน
  • ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผื่น (Skin infections) : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางถุงน้ำที่แตก
  • ในรายที่เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงบริเวณใบหน้า (Zoster ophthalmicus) : ผู้ป่วยจะมีรอยโรคขึ้นที่ตา, หน้าผากและหนังศีรษะส่วนบน และอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อที่ตาได้ (keratitis / uveitis) ซึ่งถ้าเกิดภาวะนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
  • เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทที่อักเสบ (Neurological problems) : อาการขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบที่เส้นประสาทเส้นใด เช่น สูญเสียการได้ยินและการทรงตัว, อัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เป็นต้น
  • ในรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเกิดการติดเชื้อลามไปที่อวัยวะอื่นของร่างกาย เช่น ปอดอักเสบ, สมองอักเสบ เป็นต้น
  • ในรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจเป็นโรครุนแรง จนรอยโรคเกิดพร้อมกันมากกว่า 1 แนวของเส้นประสาท หรือมีรอยโรคกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกแนวเส้นประสาทที่อักเสบ (disseminated herpes zoster)

การรักษาและยา

งูสวัดแม้จะเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง ใน 2-3 สัปดาห์ แต่การรักษาที่ถูกต้องจะช่วยบรรเทาอาการปวด, ทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนลงได้ ร่วมกับความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างกันได้มากในผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นการพิจารณาเลือกการรักษาจึงต้องคำนึงถึงความรุนแรงของโรค, ภาวะแทรกซ้อนและภาวะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเป็นหลัก

การรักษาประกอบด้วย
1. ยาต้านไวรัส : จะให้ผลการรักษาที่ดีต้องให้หลังจากเริ่มเกิดผื่นภายใน 72 ชั่วโมง ข้อบ่งชี้ในการให้ยาคือ

  • ผู้ป่วยอายุเกิน 50 ปี : เพราะมักมีอาการปวดรุนแรงตอนมีผื่น และมีโอกาสเกิดอาการปวดหลังผื่นหายได้สูง
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ป่วยที่เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงบริเวณใบหน้า (Zoster ophthalmicus) : เพราะมีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนในตาได้มาก ดังนั้นกลุ่มนี้นอกจากจะให้ยาต้านไวรัสแล้ว ยังต้องส่งปรึกษาจักษุแพทย์ด้วย

ยาต้านไวรัสที่ให้ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบกิน นานประมาณ 5-7 วัน แต่ในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีอาการรุนแรง ควรให้ยาเข้าหลอดเลือดดำ ตัวอย่างยา คือ Acyclovir, Valacyclovir และ Famciclovir

2. การรักษาตามอาการ : ได้แก่

  • ยาบรรเทาปวด : เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการรักษาผู้ป่วยในระยะผื่นและระยะที่มีอาการปวดหลังผื่นหายได้สูง ส่วนใหญ่เลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ลดอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทโดยตรง เช่น ยาต้านซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic antidepressants (เช่น amitriptyline), ยากันชัก เช่น gabapentin เป็นต้น
  • การให้ยาแก้คัน

3. การให้คำแนะนำ : ให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงธรรมชาติของโรค

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย acyclovir, amitriptyline, gabapentin

แหล่งอ้างอิง

1.อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. 2545, 77-80.
2.ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 227-230.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย