ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 12408
Small_font Large_font

ไอเป็นเลือด (Hemoptysis)

คำจำกัดความ

ไอเป็นเลือดเป็นอาการนำที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยอาการหนึ่ง และมักจะสร้างความวิตกกังวลใจให้กับผู้ป่วยค่อนข้างมาก อาการไอเป็นเลือดเป็นอาการสำคัญที่แพทย์ต้องรู้จักดี เพราะว่าสาเหตุของการไอเป็นเลือดนั้นมีมากมายทำให้เป็นปัญหาในการวินิจฉัย และการที่ผู้ป่วยไอเป็นเลือดเพียงเล็กน้อยก็อาจจะบ่งถึงโรคที่ร้ายแรงถึงชีวิต เช่น มะเร็งปอดได้ นอกจากนี้การไอเป็นเลือดจำนวนมากๆ ( massive hemoptysis) ก็ต้องการการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง มิฉะนั้นก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ไอเป็นเลือด (Hemoptysis) คือ การที่มีเลือดปนออกมากับเสมหะ เลือดที่ปนออกมาอาจจะมีเพียงเล็กน้อยเป็นเพียงเส้นฝอยๆ ก็ได้หรืออาจจะเป็นเลือดสดๆ เป็นลิ่มๆ เลยก็ได้

การจำแนกประเภท
ไอเป็นเลือดอาจจำแนกประเภทโดยดูตามปริมาณของเลือดที่ออกมา คือ

  • 1.Massive hemoptysis คือ ไอเป็นเลือดจำนวนมากโดยทั่วๆไป ถือว่าถ้าจำนวนเลือดที่ออกมามากกว่า 600 ซีซีต่อวัน ถือว่าเป็น massive hemoptysis
  • 2.Non massive hemoptysis คือ ไอเป็นเลือดน้อยกว่า 600 ซีซีต่อวัน

สาเหตุที่แบ่งประเภทแบบนี้เพราะการดูแลรักษาจะแตกต่างกัน ในกลุ่มผู้ป่วย massive hemoptysis ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเลือดที่ออกมาอาจจะอุดตันในหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจน ดังนั้นมีความจำเป็นที่ต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลแล้วรีบตรวจรักษาอย่างเร่งด่วน ส่วน non massive hemoptysis แพทย์จะมีเวลาในการตรวจวินิจฉัยสามารถทำการตรวจวินิจฉัยได้แบบคนไข้นอก

สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไอเป็นเลือดมีมากมาย สาเหตุที่พบบ่อย ประกอบด้วย

1.การติดเชื้อ
วัณโรคปอดเป็นสาเหตุของไอเป็นเลือดที่พบบ่อยในบ้านเรา การไอมักจะมีเลือดไม่มาก ผู้ป่วยที่ไอเรื้อรังและไอเป็นเลือดในบ้านเราต้องนึกถึงวัณโรคปอดไว้ก่อนผู้ป่วยวัณโรคที่ไอเป็นเลือดเกือบทั้งหมดจะต้องมีภาพรังสีทรวงอกผิดปกติโดยเห็นแผลที่กลีบปอดด้านบน การไอเป็นเลือดไม่ได้บ่งบอกว่าวัณโรคกำเริบเพราะว่าถึงแม้รักษาวัณโรคหายแล้วผู้ป่วยก็จะมีการไอเป็นเลือด

ผู้ป่วยที่เคยเป็นวัณโรคแล้วมีไอเป็นเลือดอาจเกิดจากเชื้อรา aspergiloma ที่อยู่ในโพรงแผลวัณโรค

ฝีในปอดก็เป็นสาเหตุของการไอเป็นเลือดที่พบบ่อย ผู้ป่วยจะไอเสมหะเหม็นจำนวนมาก และมีเลือดปน ซึ่งมักจะไม่มากแต่บางครั้งก็เกิด massive hemoptysis จนเสียชีวิตได้ ตรวจร่างกายอาจพบนิ้วปุ้ม และภาพรังสีทรวงอกก็จะพบฝีในปอดได้ชัดเจน

พยาธิในปอด paragonimus ก็เป็นสาเหตุของไอเป็นเลือดที่พบได้ประปราย ในพื้นที่ที่มีพยาธิชนิดนี้ชุกชุม และประวัติกินปูดิบก็จะช่วยในการวินิจฉัย การตรวจพบไข่พยาธิในเสมหะก็จะบอกการวินิจฉัยได้ ภาพรังสีทรวงอกจะพบโพรงเล็กๆ หลายๆอัน

Bronchiectasis (หลอดลมพอง) ผู้ป่วยจะมีประวัติที่ค่อนข้างจะชัดเจน คือ มีอาการไอมีเสมหะมากมานาน บางครั้งเสมหะขาว บางครั้งเสมหะเขียว และบางครั้งก็มีเลือดปนออกมา

Chronic bronchitis (หลอดลมอักเสบเรื้อรัง) จะมีประวัติสูบบุหรี่มาก และไอมีเสมหะเรื้อรัง เมื่อมีอาการกำเริบ ก็อาจจะมีไอเสมหะเพิ่มขึ้น เสมหะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง เขียว ได้และอาจมีเลือดปนได้ ถึงแม้ว่าหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยไอมีเลือดได้

2.เนื้องอก
มะเร็งปอดเป็นสาเหตุของการไอเป็นเลือดในกลุ่มผู้สูงอายุ และสูบบุหรี่จัด ปกติเลือดมักจะออกไม่มากจะมีเพียงเลือดฝอยๆ ติดกับเสมหะเท่านั้น ส่วนมะเร็งที่กระจายมาที่ปอดมักจะไม่มีอาการไอเป็นเลือด

Bronchial adenoma พบได้ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการไอเป็นเลือด ภาพรังสีทรวงอกาอาจจะปกติหรือเห็นปอดแฟบ(atelectasis) ได้

3.ความผิดปกติระบบหัวใจและหลอดเลือด
ผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดปอด อาจจะมาโรงพยาบาลด้วยการไอเป็นเลือดได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมาทันทีหายใจหอบเหนื่อย มีเจ็บแน่นหน้าอกและไอเป็นเลือด และผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบอาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการไอเป็นเลือดได้

4.ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
Goodpasture’s syndrome เกิดจากการทำลายเซลล์ของเส้นเลือดปอดโดยความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยจะมาด้วยไอเป็นเลือดบางครั้งจะเป็น massive hemoptysis ได้ สิ่งที่จะช่วยในการวินิจฉัย คือ การตรวจพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ การวินิจฉัยที่แน่นอน อาศัยการเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา

ผู้ป่วย SLE อาจเกิดไอเป็นเลือดได้จากภาวะ lupus pneumonitis ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีลักษณะบ่งชี้ว่าโรค SLE กำลังกำเริบที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย

บางครั้งอาการไอเป็นเลือดที่พบ ไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพในปอด แต่เป็นเลือดจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ในปาก จมูก หรือกระเพาะอาหาร ลักษณะที่พอจะแยกกันได้ คือ สีเลือดในภาวะไอเป็นเลือดสีเลือดจะเป็นแดงสดเป็นฟองๆ ในขณะที่ hematemesis จะมีสีคล้ำ เนื่องจากเลือดโดนกรดในกระเพาะอาหาร การที่ไอมีเสมหะปนเลือดติดต่อกันอีกหลายวันก็บ่งถึงภาวะไอเป็นเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่อาเจียนเป็นเลือดอาจจะมีอาการโรคของทางเดินอาหารร่วมด้วย

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

หากคุณมีอาการและอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาต่อไป

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย

แหล่งอ้างอิง

1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552, 136-138.
2. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, วัชรา บุญสวัสดิ์, กาญจนา จันทร์สูง, บรรณาธิการ. อาการวิทยาทางอายุรศาสตร์ Symptomatology in general medicine. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่3. 2540, 227-232.



28 ธันวาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย