ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 951
Small_font Large_font

มือเท้าปาก (Hand-foot-and-mouth disease)

คำจำกัดความ

โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ พบได้มานานแล้วและยังเกิดการระบาดเป็นครั้งคราว เกิดจากเชื้อไวรัสค๊อคแซคกี่ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าเป็นช่วงอายุที่เกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้บ่อยที่สุด โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่าโรคนี้ไม่เป็นปัญหาในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

อาการที่เกิดขึ้น เช่น ผื่นและตุ่มน้ำใส สามารถหายได้เองในเวลา 5 – 7 วัน ไม่เกินสองสัปดาห์ แต่ในบางครั้งที่มีการระบาด เชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรง เช่น Enterovirus 71 หรือ Coxsackie virus บางชนิด อาจก่อให้เกิดโรคเดียวกันนี้ที่รุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตได้

พยากรณ์โรค
โดยทั่วไป โรคมือ เท้า และปาก ถือว่ามีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก กล่าวคือโรคนี้สามารถหายได้เอง ภายในเวลา 5 – 7 วัน (ไม่เกินสองสัปดาห์) โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด

อาการ

หลังจากได้รับเชื้อ 3 – 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะมีอาการอ่อนแรงเมื่อยล้า มีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ลำคอ และต่อมทอนซิล ตุ่มแดงมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ลักษณะสำคัญเฉพาะโรคนี้คือ แผลตื้นๆ เกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุช่องปาก โดยเริ่มเป็นจุดแดงๆ ก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสและแตกเป็นแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมี ผื่นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ จะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน

ระยะที่มีตุ่มน้ำใส เป็นระยะที่ติดต่อได้ง่ายที่สุด พบว่าเชื้อไวรัสอยู่ในตุ่มน้ำใสเป็นจำนวนมาก จึงแนะนำให้ระมัดระวังการสัมผัสตุ่มน้ำใส เนื่องจากเกิดการติดเชื้อได้ง่ายมาก

กล่าวโดยสรุป อาการของโรคนี้มีดังต่อไปนี้

  • ไข้สูง
  • เจ็บคอ
  • ตุ่มน้ำใส หรือ แผล ที่คอ ในปาก
  • ปวดหัว ปวดศีรษะ
  • ผื่นที่มีตุ่มน้ำใส มือ เท้า และปาก (อาจพบที่บริเวณก้นร่วมด้วย)
  • ไม่กินนม ไม่กินอาหาร
  • เด็กร้องงอแง

สาเหตุ

สาเหตุของโรคมือ เท้า และปาก เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า coxsackie virusโดยเฉพาะเป็นไวรัสชนิด A5, A10 และ A16 ซึ่งเป็นสายพันธ์ที่พบบ่อยว่าเป็นสาเหตุ ในการระบาดบางครั้งพบว่าสายพันธ์ที่เป็นสาเหตุได้แก่ coxsackie virus type A16, coxsackie virus typeA และ enterovirus type 71

สรุปได้ว่าสาเหตุของโรคมือเท้าปากนี้ เกิดจากไวรัส (coxsackie virus) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของเอนเทอโรไวรัส enterovirus นั่นเอง

การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง ไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายติดต่อถึงกันได้โดยตรงผ่านทางของเหลวต่างๆของร่างกาย ที่สำคัญคือ การปนเปื้อนมาในอุจจาระของผู้ป่วย fecal-oral transmission โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน จะพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่การติดต่อในระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

ควรระลึกไว้เสมอว่าเด็กจะได้รับเชื้อไวรัสนี้ จากการที่ได้รับอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ซึ่งอาจกระจายออกมากับอุจจาระ หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของเด็กที่เป็นโรคนี้ และนอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ทางลมหายใจอีกด้วย

การแพร่กระจายเชื้อ จะเกิดได้ง่ายมากในเด็กๆ เล็กๆ ที่ชอบเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกันใน โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือญาติพี่น้องที่อยู่รวมกันมากๆ

การแยกโรค
ในระยะแรกที่มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก อาจคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ถ้าเป็นไข้หวัด ก็จะไม่มีอาการเป็นแผลในปาก และมีตุ่มน้ำตามมือและเท้าตามมา

ในระยะที่พบแผลในปาก อาจทำให้คิดว่าเป็น แผลแอฟทัส (aphthous ulcer) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ และตุ่มน้ำตามมือและเท้า แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน ๑-๒ สัปดาห์

นอกจากนี้ อาการขึ้นตุ่มน้ำใสตามผิวหนัง อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น เริม จะมีตุ่มขึ้นเป็นหย่อมเล็กๆ เพียงหย่อมเดียว ไม่กระจายอยู่หลายแห่ง และมักไม่มีไข้ มักจะแตกเป็นแผลตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน ๑ สัปดาห์ อีสุกอีใส จะมีไข้และผื่นขึ้นพร้อมกันใน ๑-๒ วันแรก ผื่นมีลักษณะเป็นจุดแดง ตุ่มนูนและกลายเป็นตุ่มใส กระจายตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา บางครั้งอาจขึ้นในช่องปากร่วมด้วย

การวินิจฉัย

การซักถามประวัติ และการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม อาศัยการตรวจพบลักษณะของตุ่มน้ำใสที่เกิดขึ้นที่บริเวณปาก ฝ่ามือ และ ฝ่าเท้า ทั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีอาการไม่รุนแรงนัก

ส่วนการตรวจหาเชื้อสาเหตุนั้น โดยการเพาะแยกเชื้อไวรัสจากอุจจาระ หรือ throat swab หรือ nasal washing หรือ nasal aspiration ใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ควบคู่กับการตรวจทางน้ำเหลือง (serology) ในตัวอย่างเลือด acute และ convalescent serum เพื่อดู antibody ต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุ

ภาวะแทรกซ้อน

โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดร่วมกับโรคมือเท้าปาก ได้แก่ ชักจากไข้สูง, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Aseptic meningitis) และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ถึงแม้จะเกิดขึ้นไม่มากนักแต่ค่อนข้างจะอันตรายถึงแก่ชีวิต

การรักษาและยา

โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อไวรัสทั่วๆไป ดังนั้นการรักษาที่สำคัญ จึงเน้นที่การรักษาตามอาการ และการรักษาประคับประคอง แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารเหลว รสไม่จัด เช่น ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ น้ำแกงจืด น้ำเต้าหู้ นม และนอนพักผ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด เฝ้าระวังอาการที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย กระตุ้นและดูแลให้เด็กดื่มน้ำและทานอาหารให้ได้ตามปกติ ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน ส่วนมากจะกินเวลาประมาณ 7-10 วัน เด็กก็จะฟื้นจากไข้ และหายเป็นปกติ

แต่เชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง อาจเกิดภาวะสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

การป้องกันโรค
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น

สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วันหรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Paracetamol,

แหล่งอ้างอิง

1. ประยงค์ เวชวนิชสนอง, วนพร อนันตเสรี , บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์. 2550 ,122-130.
2. สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล, มาลัย ว่องชาญชัยเลิศ, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. สงขลา:ชานเมืองการพิมพ์.พิมพ์ครั้งที่2. 2549,267-274.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย