ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ
อ่าน: 2335
ภาวะมีเต้านมในผู้ชาย (Gynecomastia)
เต้านมปกติ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นต่อมน้ำนม ทำหน้าที่สร้างน้ำนม และส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำหน้าที่เป็นโครงร่างค้ำจุน
ภาวะมีเต้านมในผู้ชาย (Gynecomastia) คือ ภาวะที่มีเนื้อนมในส่วนที่เป็นต่อมน้ำนมมีขนาดโตขึ้น ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เซนติเมตร, มีลักษณะแข็งหรือหยุ่นๆ คล้ายยางลบ, มักขยับก้อนไปมาได้ และบางรายอาจมีอาการเจ็บที่เต้านมร่วมด้วย
ภาวะนี้เป็นปัญหาของเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ชาย โดยอาจเป็นที่เต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ความสำคัญของภาวะนี้ คือ
- อาจพบได้เป็นปกติในบางช่วงอายุของผู้ชาย หรืออาจเกี่ยวข้องกับบางโรค เช่น มะเร็งเต้านม
- มีปัญหาในเรื่องความสวยงามและปัญหาด้านจิตใจ
ในภาวะปกติ การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเต้านมจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเพศ 2 ชนิด คือ
- ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) : ทำหน้าที่กระตุ้นเนื้อเยื่อเต้านมให้มีการเจริญเติบโต ทำให้ผู้หญิงปกติมีการเจริญของเต้านมตามอายุ
- ฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (Androgen) : ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญของเนื้อเยื่อเต้านม ทำให้ในผู้ชายปกติไม่มีเต้านม
ดังนั้นถ้าเกิดการไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศทั้งสองชนิดในเลือดหรือในเนื้อเยื่อของเต้านม จึงทำให้เกิดภาวะผู้ชายมีเต้านมตามมา
สาเหตุของภาวะมีเต้านมในผู้ชาย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- เป็นภาวะปกติของร่างกาย (Physiologic gynecomastia) : ในผู้ชายปกติสามารถมีเต้านมได้ในบางช่วงอายุ จากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเพศในร่างกาย คือ
- วัยทารกแรกเกิด (Gynecomastia in newborn) : พบได้ประมาณร้อยละ 60-90 ของทารกแรกเกิด เป็นผลมาจากการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนของมารดาผ่านทางรกในระหว่างอยู่ในครรภ์ ภาวะนี้จะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
- วัยรุ่น (Adolescent gynecomastia) : พบได้ประมาณร้อยละ 30-66 ของวัยรุ่นชาย เกิดจากมีฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนเพิ่มมากขึ้น เต้านมมักจะเริ่มโตขึ้นตั้งแต่อายุ 11-12 ปี พบได้สูงสุดช่วงอายุ 13-14 ปี ส่วนใหญ่เต้านมสองข้างโตไม่เท่ากันและมักมีอาการเจ็บเต้านมร่วมด้วย ภาวะนี้มักจะหายไปได้เอง ประมาณ 2-3 เดือน
- วัยชรา (Gynecomastia of aging) : พบได้ประมาณร้อยละ 72 ของผู้ชายอายุระหว่าง 50-60 ปี เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนในกระแสเลือด เช่น มีฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลดลง
- เป็นอาการแสดงของการมีความผิดปกติในร่างกายหรือโรคต่างๆ (Pathological gynecomastia) : แบ่งได้เป็นกลุ่มย่อยคือภาวะที่มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูงขึ้น เช่น
- เป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน เช่น เนื้องอกของต่อมหมวกไต, เนื้องอกของอัณฑะบางชนิด เป็นต้น
- การกินยาที่มีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนเป็นส่วนผสมหรือมีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ยาคุมกำเนิด, ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ digoxin ภาวะที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลดลง เช่น
- ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน เช่น ยาฆ่าเชื้อรา ketoconazole, ยาลดความดันโลหิต spironolactone เป็นต้น
- ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวจับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนที่เนื้อเยื่อเต้านม ทำให้ฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนไม่สมารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้อเยื่อเต้านมได้ เช่น ยาลดความดันโลหิต spironolactone, ยาเคลือบกระเพาะ cimethidine เป็นต้น ภาวะที่ทำให้มีระดับฮอร์โมนโปรแลคทิน (ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญของต่อมสร้างน้ำนม) ปริมาณเพิ่มขึ้นในกระแสเลือด เช่น
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต methydopa, ยาต้านซึมเศร้า TCA, ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน motilium และ plasil เป็นต้น
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- เนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนโปรแลคทิน เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง โรคทางต่อมไร้ท่อบางโรค เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ จะพบภาวะมีเต้านมในผู้ชายได้ประมาณร้อยละ 2-40 โรคทางระบบอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยชายที่มีภาวะไตวายเรื้อรัง จะพบว่ามีเต้านมได้ร้อยละ 1-8 เกิดจากไตวายเรื้อรังทำให้ไตทำลายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนได้น้อยลง จึงมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
ยังไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic) : พบได้ร้อยละ 25 ของผู้ป่วย
ถ้าผู้ชายคนไหน มีความผิดปกติของเต้านมข้างหนึ่งหรือสองข้าง ดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายว่าเป็นภาวะปกติของร่างกายหรือป่วยเป็นโรคอะไร เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
- มีเต้านมในผู้ชาย
- มีอาการปวดหรือกดเจ็บที่เต้านม
- มีน้ำนมหรือน้ำอื่นๆ ไหลออกมาจากหัวนม
ยาที่ใช้บ่อย
- www.mayoclinic.com
- ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552.
- สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, วัชรา บุญสวัสดิ์, กาญจนา จันทร์สูง, บรรณาธิการ. อาการวิทยาทางอายุรศาสตร์ Symptomatology in general medicine. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่3, 2540.
17 กรกฎาคม 2553
03 ธันวาคม 2553