ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2670
Small_font Large_font

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)

คำจำกัดความ

มะเร็งที่เกิดขึ้นตรงบริเวณเยื่อบุส่วนใดส่วนหนึ่งภายในโพรงกระเพาะอาหาร แล้วแพร่กระจายไปทั่วกระเพาะอาหารและต่อเนื่องไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ, ลำไส้, ตับอ่อน, ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง, ปอดและรังไข่ เป็นต้น กระเพาะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร ตั้งอยู่ที่บริเวณช่องท้องส่วนบนใต้ต่อกระดูกซี่โครงซ้ายและบริเวณลิ้นปี่ เวลาเรากินอาหาร อาหารจะผ่านจากปากและหลอดอาหารมาเข้าที่กระเพาะอาหาร จากนั้นกระเพาะอาหารจะทำหน้าที่ย่อยอาหารบางส่วนโดยเฉพาะโปรตีน จากนั้นจะส่งอาหารต่อไปที่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยอาหารต่อให้สมบูรณ์ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป อุบัติการณ์แตกต่างกันในแต่ละประเทศและเชื้อชาติ ส่วนใหญ่มักจะตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ในระยะสุดท้าย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมาหาหมอเมื่อมีอาการปรากฏชัดเจน ได้แก่ อาการปวดท้องและน้ำหนักลด ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กก่อนมีอาการผิดปกติหรือมาตรวจตั้งแต่ระยะแรกที่มีอาการ อาจทำให้สามารถตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรคที่มะเร็งยังไม่ลุกลามมาก ซึ่งทำให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้

อาการ

ในระยะแรกของโรค ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็น ต่อมาเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ, รู้สึกหิวง่ายและอาหารไม่ย่อย อาการเป็นแบบเดียวกับโรคกระเพาะอาหาร และในช่วงแรกอาการก็มักจะทุเลาหลังกินยาโรคกระเพาะ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะธรรมดา ปล่อยไว้จนต่อมาเมื่อโรคเป็นมากขึ้น จะกินยารักษากระเพาะไม่ได้ผลและอาจมีอาการที่รุนแรงเพิ่มเติมตามมา เช่น
• คลื่นไส้ อาเจียน
• อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ : เกิดจากการมีเลือดออกที่บริเวณก้อนเนื้อ
• คลำได้ก้อนในท้อง : ก้อนอยู่บริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงซ้าย ลักษณะเป็นก้อนแข็ง กดไม่เจ็บ
• เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
• คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย ถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ ก็จะมีอาการของโรคแทรกซ้อนจากมะเร็งไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ตามมา เช่น
• ลามขึ้นไปที่หลอดอาหาร : มีอาการกลืนอาหารลำบาก เริ่มจากกลืนอาหารแข็ง เช่น ข้าวสวยไม่ได้ก่อน ต่อมาจะเริ่มกลืนอาหารเหลวเช่น ข้าวต้มไม่ได้ และท้ายที่สุดจะกลืนน้ำไม่ได้เลย
• ลามไปตับ : มีอาการดีซ่านหรือตัวเหลืองตาเหลือง, คลำได้ก้อนแข็ง บริเวณใต้ชายโครงขวา
• ลามไปปอด : หายใจหอบเหนื่อย
• ลามไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ : ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย
• ก้อนมะเร็งอุดตันกระเพาะอาหารและลำไส้ : ปวดท้อง อาเจียน

สาเหตุ

มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ที่สำคัญได้แก่
1. พันธุกรรม : ผู้ที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อแม่/พี่น้องป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีพันธุกรรมของโรคนี้
2. อายุ : เมื่ออายุมากขึ้น จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นด้วย
3. เพศ : พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง ประมาณ 3 เท่า
4. เชื้อชาติ : พบมะเร็งชนิดนี้ในชนชาติเอเชียมากกว่าเชื้อชาติอื่น
5. การมีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังหรือเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร จากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี (Helicobacter pylori) : การที่กระเพาะอาหารอักเสบ ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติและอาจกลายเป็นมะเร็งต่อไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง
6. การดื่มเหล้าจัด หรือสูบบุหรี่
7. การกินอาหารบางชนิดมากเกินไป : ได้แก่ อาหารรสเค็มจัด, อาหารหมักดอง, อาหารรมควัน หรืออาหารใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง
8. การกินผักและผลไม้น้อย : การรับประทานผักและผลไม้มากๆ จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้
9. การมีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 15 ปี : ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติ

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ด้วยการตรวจพิเศษ ประกอบด้วย
 ส่องกล้องทางปาก ลงไปตรวจดูสภาพภายในกระเพาะอาหาร(endoscope) : เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน การส่องกล้องจะทำให้สามารถมองเห็นแผลในกระเพาะอาหารและมะเร็งได้อย่างชัดเจน แต่ถึงแม้ว่า แพทย์จะไม่พบแผลหรือมะเร็งอย่างชัดแจ้ง แพทย์ก็มักจะใช้เข็มสะกิดเอาชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะอาหารไปพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมว่าเป็นแผลหรือเป็นมะเร็งหรือไม่ ( มีความแม่นยำในการวินิจฉัยถึง ร้อยละ 95 ) ระหว่างที่ทำการตรวจ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรือพะอืดพะอม
 กลืนแป้งแบเรียม แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระเพาะอาหารและลำไส้ : จะเห็นมะเร็งอยู่ในกระเพาะอาหาร ลักษณะเป็นก้อน หรือแผล หรือเห็นผนังกระเพาะอาหารขรุขระและตีบแคบกว่าปกติ เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ อีก เพื่อประเมินว่ามะเร็งกระจายตัวไปมากน้อยเพียงใดและหรืออยู่ในระยะใดของโรค เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสม ( มะเร็งแบ่งเป็น 4 ระยะ โดย ระยะที่ 1 คือโรคเป็นเล็กน้อยหรือระยะแรก ซึ่งเซลล์ยังอยู่เฉพาะในผนังกระเพาะอาหารเท่านั้น ส่วนระยะ 4 เป็นระยะสุดท้ายซึ่งมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว) การตรวจประกอบด้วย
 อัลตราซาวนด์ : ดูการกระจายของมะเร็งไปที่ตับ, ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง เป็นต้น
 เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ : ช่วยวินิจฉัยการลุกลามของมะเร็งเข้าอวัยวะข้างเคียง, ขนาดของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง และช่วยประเมินว่าก้อนจะสามารถผ่าตัดออกได้หมดหรือไม่

ภาวะแทรกซ้อน

1. มีอาการเจ็บปวด จากตัวก้อน
2. อาการจากมะเร็งลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น
• ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหาร : มีอาการปวดท้อง ท้องอืด, อาเจียน, กินอาหารไม่ได้
• มะเร็งอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ : ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย, ไตวาย
• มะเร็งแพร่ไปที่ปอด : ทำให้หายใจลำบาก
• มะเร็งแพร่ไปที่ตับ : ทำให้มีอาการดีซ่านหรือตัวเหลืองตาเหลือง, ท้องบวมน้ำ
• ภาวะตกเลือด : อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำ
3. อาการเพลีย ไม่มีแรง : จากภาวะโลหิตจากที่เกิดตามหลังการเสียเลือดเรื้อรังที่บริเวณตัวก้อน

การรักษาและยา

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารประกอบด้วยการผ่าตัด, การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง โดยวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก, ตำแหน่งของเนื้องอกและระยะการแพร่กระจายของโรค คือ
 ถ้าเป็นมะเร็งในระยะแรก : จุดประสงค์ของการรักษาคือ รักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้ โดยแพทย์มักจะรักษาโดยใช้วิธี – การผ่าตัดกระเพาะอาหาร : เพื่อเอาก้อนมะเร็งออกโดยมีเนื้อกระเพาะอาหารส่วนที่ดีล้อมรอบ ดังนั้นถ้าก้อนมีขนาดเล็ก อาจตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วนได้ แต่ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก ก็มีความจำเป็นต้องผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด – การให้ยาเคมีบำบัด : เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย โดยแพทย์อาจให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดเพื่อให้ก้อนยุบลง หรือให้ยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งกระจายตัว – การฉายแสง : เป็นการให้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีผลจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเท่านั้น แพทย์มักใช้วิธีนี้ร่วมกับวิธีการให้ยาเคมีบำบัด โดยอาจทำการฉายแสงก่อนผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนหรือฉายแสงหลังผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังผ่าตัด
 ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย : ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน (เช่น เป็นมะเร็งระยะที่ 4 ซึ่งมะเร็งลุกลามกระจายทั่วร่างกายแล้ว มักจะอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน) จุดประสงค์ของการรักษา ไม่ได้มุ่งหวังให้โรคหายขาด แต่เพื่อป้องกันหรือบรรเทาภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งลุกลามไปอวัยวะต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานและเสียชีวิตอย่างสงบ โดยแพทย์มักจะรักษาโดยใช้วิธี – การให้เคมีบำบัด : เป็นวิธีการรักษาหลัก เพื่อลดขนาดของก้อน ทำให้อาการต่างๆ ที่เกิดจากตัวก้อนมะเร็งกินพื้นที่ในกระเพาะอาหารหรือจากก้อนมะเร็งกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง ลดน้อยลง – การฉายแสง : แพทย์มักใช้วิธีการฉายแสงร่วมกับวิธีการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดของก้อน – การรักษาโดยการผ่าตัด : อาจทำเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน ( เช่น ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะ) หรือทำเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดแน่นท้องลดลง และสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น

แหล่งอ้างอิง

  1. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. มะเร็งกระเพาะอาหาร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.doctor.or.th/node/1773. (วันที่ค้น
ข้อมูล: 9 กุมภาพันธ์ 2553).
  1. ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546; 531-562


27 พฤษภาคม 2553 04 สิงหาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย