ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ
อ่าน: 13863
นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone )
นิ่วในถุงน้ำดี คือ ภาวะที่มีการตกตะกอนของสารในน้ำดี จนกลายเป็นก้อนนิ่วอยู่ภายในถุงน้ำดี ซึ่งก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดแตกต่างกันได้ในผู้ป่วยแต่ละคน (บางคนเป็นเม็ดเล็กเท่าเม็ดทราย แต่บางคนเป็นเม็ดขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปอง) และผู้ป่วยบางคนอาจมีแค่เม็ดเดียว แต่บางคนก็มีนิ่วหลายเม็ดพร้อมกัน
ถุงน้ำดี เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกาย มีขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายลูกแพร์ ตำแหน่งอยู่ที่ใต้ตับ บริเวณด้านขวาบนของช่องท้อง ทำหน้าที่ทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นมากขึ้น (เป็นน้ำย่อยชนิดหนึ่ง สร้างจากตับมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี) จากนั้นจะส่งน้ำดีต่อไปยังลำไส้เล็ก เพื่อทำหน้าที่ช่วยย่อยไขมัน
นิ่วในถุงน้ำดี แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ตามลักษณะส่วนประกอบในก้อนนิ่ว คือ
Pure stone = ก้อนนิ่วมีสารอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นส่วนประกอบมากผิดปกติ จนเกือบไม่มีสารอื่นปนอยู่เลย แบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิด คือ
Cholesterol stone = เป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบหลักเป็นไขมัน cholesterol นิ่วมักเป็นก้อนเดี่ยว กลม สีขาวนวล ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นนิ่วชนิดนี้มากขึ้น คือ เพศหญิง, อายุประมาณ 40 ปี, รูปร่างอ้วน, กินอาหารที่มีไขมันสูง
Bilirubin /Pigmented stone = เป็นนิ่วที่มีส่วนประกอบหลักเป็นสารเหลือง bilirubin นิ่วมักเป็นเม็ดสีดำ เกิดพร้อมกันหลายก้อน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นนิ่วชนิดนี้มากขึ้น คือ มีเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง
Mixes stone = ก้อนนิ่วที่เกิดจากการตกตะกอนของสารต่างชนิดกัน มักมีสีดำ เกิดและโตพร้อมกันหลายก้อน
ผู้ป่วยโรคนี้ อาจจะแสดงหรือไม่แสดงอาการให้เห็นก็ได้
ไม่มีอาการ (Asymptomatic) : ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการอะไร แค่ตรวจเจอโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี แต่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีโอกาสแสดงอาการออกมาได้มากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านมา (มีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการกลายเป็นเกิดอาการเพิ่มขึ้น ประมาณ 3% ต่อปี)
แสดงอาการ (Symptomatic) : ผู้ป่วยโรคนี้จะแสดงอาการออกมาให้เห็นได้ 3 แบบ คือ
มีอาการปวดท้องบริเวณด้านขวาบนหรือรู้สึกท้องอืด หลังจากกินอาหาร โดยเฉพาะหลังกินอาหารมันๆหรืออาหารมื้อใหญ่ โดยอาการปวดไม่รุนแรงมากและสามารถหายได้เอง หลังจากอาหารย่อยเสร็จแล้ว
มีอาการปวดที่เกิดจากนิ่วไปอุดตันในท่อน้ำดีทันที ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องแบบตื้อๆ ที่ด้านขวาบน ความรุนแรงปานกลางถึงมาก (รุนแรงกว่ากลุ่ม 2.1) อาการปวดอาจร้าวไปสะบักขวาหรือลิ้นปี่ จะปวดอยู่นานประมาณ 1-5 ชั่วโมง จากนั้นจะหายเอง
อาการจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ดังที่จะกล่าวต่อไป)
โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากความผิดปกติในส่วนประกอบและการไหลเวียนของน้ำดีในถุงน้ำดี จึงเกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วในถุงน้ำดีขึ้น มีรายละเอียด ดังนี้
มีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของน้ำดี : โดยปกติน้ำดี ประกอบด้วยสาร 3 อย่าง ในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ( ไขมัน cholesterol + lecithin + เกลือน้ำดี ) ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนนี้ไป ก็จะเกิดการตกตะกอนของน้ำดีเป็นนิ่วขึ้น เช่น
มีไขมัน cholesterol มากขึ้น เช่น คนอ้วน,กินอาหารที่มีไขมันมาก เป็นต้น
เกลือน้ำดีลดลง เช่น ในผู้ป่วยโรคตับ
สารเหลือง (bilirubin) เพิ่มขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่มีเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง
น้ำดีไหลถ่ายเทออกจากถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็กได้ไม่สะดวด เช่น ท่อน้ำอุดตัน, ถุงน้ำดีบีบตัวได้ไม่ดีในคนท้องหรือกินยาคุมกำเนิด ทำให้น้ำดีคั่งอยู่ในถุงน้ำดี และมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น จนเกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วในที่สุด
ปัจจัยที่จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น คือ
เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย
อายุมากกว่า 60 ปี
มีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
กินอาหารที่มีไขมัน choresterol สูง และมีกากใยอาหารต่ำ
รูปร่างอ้วน
น้ำหนักลดลงเร็วเกินไป
กำลังตั้งครรภ์
ใช้ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เช่น ยาคุมกำเนิดหรือการใช้ฮอร์โมนทดแทน
หมายเหตุ : ปริมาณไขมัน cholesterol ในน้ำดีที่สูง ไม่สัมพันธ์กับปริมาณ cholesterol ในเลือด
ซักประวัติ
ตรวจร่างกาย : ในโรคนี้ จะตรวจร่างกายแล้วปกติ ยกเว้นตอนที่เกิดภาวะแทรกซ้อน
ตรวจทางห้องปฏิบัติการ :
ตรวจเลือดดูการทำหน้าที่ของตับ โรคนี้จะปกติ
ตรวจอัลตราซาวน์ จะเห็นนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี
เกิดจากนิ่วหลุดออกจากถุงน้ำดีแล้วไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ ตามมา ถ้าผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องรักษาโดยการนอนโรงพยาบาล
ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholecystitis) : เกิดจากนิ่วไปอุดตันที่ตำแหน่งที่แคบที่สุดของถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีระบายออกไม่ได้และเกิดการอักเสบของถุงน้ำดีตามมาผู้ป่วยจะมีอาการ
ปวดท้องที่ด้านขวาบนตลอดเวลาและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
คลื่นไส้อาเจียน
ไข้ต่ำๆ ประมาณ 38 องศาเซลเซียส
นิ่วอุดตันในท่อทางเดินน้ำดี (Choledocholithiasis) : เกิดจากนิ่วจากถุงน้ำดี ลงมาอุดตันในท่อน้ำดี (เป็นท่อที่ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของน้ำดีจากถุงน้ำดีและตับ ไปยังลำไส้เล็ก) ผู้ป่วยจะมีอาการ
ปวดท้องที่ด้านขวาบนแบบตื้อๆ
ตัวเหลืองตาเหลือง
อุจจาระสีขาวซีด
โดยอาการเหล่านี้จะเกิดเป็นๆ หายๆ คือ จะเกิดอาการตอนที่นิ่วอุดตันท่อน้ำดีอยู่และเมื่อนิ่วที่อุดตันนั้นหลุดลงไปในลำไส้เล็กได้เอง อาการต่างๆ ก็จะหายไป
ท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholangitis) : เกิดจากนิ่วอุดตันในท่อทางเดินน้ำดี แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในท่อทางเดินน้ำดีตามมาผู้ป่วยจะมีอาการ
ปวดท้องด้านขวาบนมาก
ตัวเหลืองตาเหลือง
ไข้สูง หนาวสั่น
ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis) : เกิดจากนิ่วหลุดไปอุดตันในท่อของตับอ่อน (เป็นท่อที่นำน้ำย่อยจากตับอ่อนไปที่ลำไส้เล็ก โดยก่อนที่ท่อของตับอ่อนนี้จะเทเข้าสู่ลำไส้เล็ก จะเชื่อมกับท่อน้ำดีก่อน) ทำให้น้ำย่อยจากตับอ่อนคั่งและเกิดการอักเสบตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการ
ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่และชายโครง ร้าวไปข้างหลัง อาการปวดรุนแรงมากและปวดตลอดเวลา อาการปวดอาจดีขึ้นเล็กน้อยตอนนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า
ท้องอืด
มีไข้
คลื่นไส้อาเจียน
ตัวเหลืองตาเหลืองเล็กน้อย
มะเร็งของถุงน้ำดี (Carcinoma of gallbladder) : ถุงน้ำดีที่มีนิ่วอยู่มีโอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างน้อย คือ ประมาณร้อยละ 1 ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่อายุมาก, เพศหญิงพบได้มากกว่าเพศชาย 4 เท่า ผู้ป่วยจะมีอาการ
ปวดจุกแน่นที่ท้องด้านขวาบน ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
ตัวเหลืองตาเหลือง
การรักษานิ่วในถุงน้ำดี มี 3 ทางเลือก คือ
ไม่ต้องให้การรักษาอะไร : จะทำในผู้ป่วยรายที่ไม่มีอาการและลักษณะนิ่วมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาน้อย รักษาโดยติดตามอาการเป็นระยะ และให้คำแนะนำ คือ
หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อจะได้ไม่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ
กินอาหารที่มีกากใยอาหารสูง (พวกผักผลไม้)
การรักษาโดยการกินยาละลายนิ่ว : ใช้ได้ผลเฉพาะนิ่วชนิด cholesterol stone และต้องใช้เวลากินยาติดต่อกันนานหลายเดือน ทำให้วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยม มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่พร้อมที่จะรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก : จะพิจารณาทำในกรณีที่
ผู้ป่วยมีอาการแสดงของโรคนิ่วในถุงน้ำดีและภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดง แต่พบว่าผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วได้สูง เช่น ก้อนนิ่วขนาดใหญ่ (มีโอกาสที่นิ่วจะหลุดไปอุดตันที่ต่างๆ และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้สูง) , มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน (ถ้าเกิดการติดเชื้อตามมา จะมีอาการที่รุนแรงกว่าคนธรรมดา เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้มีภูมิคุ้นกันต่ำลง) , อายุน้อย (เพราะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน ทำให้มีโอกาสจะแสดงอาการของโรคนิ่วได้มากขึ้น) , ลักษณะนิ่วที่พบมีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งสูง
หมายเหตุ : การผ่าตัดทำโดยเอาถุงน้ำดีออกทั้งหมด จะไม่รักษาโดยแค่เอาก้อนนิ่วออกและเหลือถุงน้ำดีไว้ เนื่องจากถุงน้ำดีที่เคยเกิดก้อนนิ่วขึ้น แสดงว่าเสียหน้าที่แล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็มีโอกาสเกิดนิ่วกลับเป็นซ้ำได้
WWW .mayoclinic.com
ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546; 597-612.
Gallstones. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. http://digestive.niddk.nih.gov/ddiseases/pubs/gallstones/index.htm. Accessed May 28, 2009.
Understanding gallstones. American Gastroenterological Association. http://www.gastro.org/wmspage.cfm?parm1=5680. Accessed May 28, 2009.
Choi Y, et al. Biliary tract disorders, gallbladder disorders and gallstone pancreatitis. American College of Gastroenterology. http://www.acg.gi.org/patients/gihealth/biliary.asp?mode=print&. Accessed May 28, 2009.
Browning JD, et al. Gallstone diseases. In: Feldman M, et al. Sleisenger & Fordtran’s Gastrointestinal and Liver Disease: Pathophysiology, Diagnosis, Management. 8th ed. Philadelphia, Pa.: Saunders Elsevier; 2006. http://www.mdconsult.com/das/book/body/140200591-2/0/1389/0.html. Accessed May 28, 2009.
ร่วมเขียนโดย แพทย์หญิงธารีรัตน์ อนันต์ชัยทรัพย์,นายแพทย์ธีรภาพ ลิ่วลักษณ์
เขียนเมื่อ 04 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 31 มกราคม 2554