ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 3497
Small_font Large_font

ลมชัก (Epilepsy)

คำจำกัดความ

โรคลมชัก คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการส่งสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมองอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติที่โครงสร้างหรือการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการชักขึ้น ซึ่งอาการชักมีได้หลายรูปแบบ คือ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเกร็ง กระตุกเป็นช่วงๆ หรือเหม่อลอย

ในคนปกติ อาจเกิดอาการชักขึ้นได้เป็นครั้งคราว เนื่องจากภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น ผลจากยาบางชนิด,โรคเบาหวาน, ภาวะมีไข้สูง หรือความเครียด ซึ่งยังไม่จัดเป็นโรคลมชักและมักจะหายได้เอง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ มากกว่า 2 ครั้ง ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นโรคลมชักหรือไม่

แม้ว่าผู้ป่วยโรคลมชักจะมีอาการแค่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ควรมารับการรักษา เพราะโรคนี้อาจทำให้เกิดอันตรายขณะทำกิจวัตรประจำวันได้

อาการ

โรคลมชัก จำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามตำแหน่งที่เริ่มเกิดความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าในสมอง ทำให้แสดงอาการแตกต่างกันในแต่ละประเภท คือ

  • อาการชักเฉพาะที่ (Partial/focal seizure) : คือ การชักที่เกิดจากการปล่อยสัญญาณไฟฟ้าที่มากผิดปกติขึ้นเฉพาะที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของสมอง อาการแสดงขณะชักจึงขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่ผิดปกติ เช่น เกร็งกระตุกที่แขนขาข้างใดข้างหนึ่ง โดยขณะที่เกิดอาการชักผู้ป่วยอาการไม่รู้สึกตัวหรือรู้สึกตัวดีแต่ไม่สามารถควบคุมอาการ

สาเหตุของอาการชักประเภทนี้ มักเกิดจากสาเหตุเฉพาะที่ในสมอง เช่น การบาดเจ็บ , การติดเชื้อ หรือเนื้องอกในสมอง
  • อาการชักทั้งตัว (Generalized seizure) : คือ การชักที่มีการกระจายของสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติไปทั่วสมอง เป็นอาการชักที่ค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยมักหมดสติขณะที่เกิดอาการชัก

อาการชักในกลุ่มนี้ สามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด ตามอาการแสดงขณะชัก คือ
  1. การชักแบบเหม่อลอย (Absence seizure) : ผู้ป่วยมีอาการเหม่อตาลอย กระพริบตาและกลอกตาไปมา ร่วมกับไม่รู้สึกตัว โดยมีอาการในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-3 วินาที หลังจากนั้นจะกลับมารู้สึกตัวตามปกติ
  2. การชักแบบมีอาการกระตุก (Myoclonic seizure) : มีอาการกระตุกและเกร็งของแขนขาในระยะเวลาสั้นๆ
  3. การชักแบบความตึงตัวของกล้ามเนื้อเสียไป (Atonic seizure) : ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเสียไปทันที ทำให้ผู้ป่วยมักล้มลงทันที
  4. การชักแบบกล้ามเนื้อเกร็ง (Tonic seizure) : ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งอย่างรุนแรง
  5. การชักแบบมีอาการกระตุก (Clonic seizure) : ผู้ป่วยจะมีอาการกระตุกของแขนขา โดยไม่มีอาการเกร็ง
  6. การชักแบบเกร็งกระตุก (Tonic-clonic seizure) : ผู้ป่วยมีอาการแขนขาเกร็งกระตุกก่อน แล้วล้มลงหมดสติ, หายใจสะดุด, ริมฝีปากและผิวหนังคล้ำ, อาจกัดลิ้นตัวเองและปัสสาวะอุจจาระราดได้ การชักแบบนี้เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุด

ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มจากอาการชักเฉพาะที่ก่อน จากนั้นจึงเกิดอาการชักทั้งตัวตามมา

ผู้ป่วยบางรายก่อนเกิดอาการชัก อาจมีอาการเตือนเกิดขึ้นก่อน ในลักษณะต่างๆ เช่น การเห็นแสงวูบวาบ (aura), รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัว, ได้ยินเสียงดนตรี, ได้กลิ่นและรับรสผิดปกติ, รู้สึกตื่นเต้นกระวนกระวาย, กล้ามเนื้อตึงตัวมากขึ้น เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคลมชักมักเกิดจากความผิดปกติในสมองส่วนหนึ่งๆ ทำให้แต่ละครั้งที่เกิดอาการชัก มักจะแสดงอาการชักเหมือนเดิม

สาเหตุ

ยังไม่รู้สาเหตุการเกิดโรคชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคลมชัก จะเกิดจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน คือ

  1. สาเหตุทางพันธุกรรม : ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น
  2. สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของสมอง เช่น อุบัติเหตุรถ
  3. มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เช่น หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน
  4. โรคสมองเสื่อมในคนสูงอายุ (Demensia)
  5. โรคหรือความเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อ (meningitis), โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS), ติดเชื้อในสมอง, ติดเชื้อคอตีบ หัดและคางทูม
  6. ร้อยละ 20 ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคลมชัก เกิดจากโรคสมองพิการจากการขาดออกซิเจนระหว่างคลอด (CP) และโครงสร้างของสมองผิดปกติแต่กำเนิด
  7. เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของสมองช้ากว่าปกติ เช่น โรคออทิสติก (autism) และกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome)
  8. เกิดตามหลังการเลิกยาเสพติด

การวินิจฉัย

  • การซักประวัติ : จะถามเกี่ยวกับอาการชักอย่างละเอียด ส่วนใหญ่สอบถามจากผู้เห็นเหตุการณ์ว่าผู้ป่วยมีอาการแสดงอย่างไรบ้าง เพราะผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวในขณะที่เกิดอาการชัก
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท : เพื่อหาความผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงตำแหน่งในสมองที่ผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง และบอกสาเหตุของอาการชักได้ เช่น ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • การตรวจเลือด : เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการชักได้ เช่น หาการติดเชื้อ, พิษของตะกั่ว, อาการซีด และเบาหวาน,เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เป็นต้น
  • การตรวจคลื่นสมอง (EEG) : เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยที่สุดในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักหรือไม่ ทำโดยการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าจากสมอง เพื่อหาความผิดปกติของการส่งสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมอง
  • การตรวจเอ็กซเรย์สมอง : จะทำการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้บอกความผิดปกติในสมองที่ทำให้เกิดอาการชักได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการชักครั้งแรก เช่น เนื้องอกในสมอง, เลือดออกในสมอง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

  • ผู้ป่วยอาจได้รับอุบัติเหตุขณะเกิดอาการชัก เช่น ตกจากที่สูง, จมน้ำ , ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่เวลาเกิดอาการชัก มักจะหยุดชักได้เองภายใน 2-5 นาที โดยไม่จำเป็นต้องให้ยา แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการชักติดต่อกันนานมากกว่า 5 นาที หรือชักซ้ำๆ หลายครั้ง โดยไม่รู้สึกตัวในระหว่างที่หยุดชัก เรียกว่า status epilepticus ซึ่งภาวะนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำลายเนื้อสมองจากการขาดออกซิเจนและอาจเสียชีวิตได้
  • ถ้าไม่รักษา ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตโดยไม่มีสาเหตุได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจาก มีอาการชักโดยไม่มีใครเห็น ทำให้ได้รับอุบัติเหตุขณะชัก
  • ถ้าตั้งครรภ์ โรคลมชักและยากันชักอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้ป่วยหญิงที่ต้องการจะตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยากันชัก

การรักษาและยา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมอาการชักได้ด้วยยาต้านอาการชัก แต่ถ้าการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ยังมีการรักษาอีกหลายวิธี การรักษาโรคนี้มีหลายวิธี ประกอบด้วย

1. การรักษาด้วยยาต้านอาการชัก : ยาออกฤทธิ์โดยยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทที่มากเกินไปในสมอง ยามีให้เลือกหลายชนิด แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินเพื่อเลือกชนิดและขนาดของยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นอยู่กับประเภทของอาการชักและการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนใหญ่แพทย์จะเริ่มจากยาชนิดเดียวก่อนและเริ่มจากขนาดยาต่ำๆ ก่อน จากนั้นจะเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถควบคุมอาการชักได้ และเมื่อเริ่มควบคุมอาการชักได้ แพทย์ก็จะเริ่มลดขนาดยาลง จนผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดยาได้ โดยไม่เกิดอาการชักเลยเป็นเวลาหลายปี ยากันชักมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อ่อนเพลีย, เวียนศีรษะ, น้ำหนักเพิ่มขึ้น, ผื่นผิวหนัง, ซึมเศร้า เป็นต้น
2. การรักษาด้วยการผ่าตัด : จะทำในกรณีที่

  • ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง การใช้ยากันชักไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • ผลการตรวจเพิ่มเติมพบว่า อาการชักของผู้ป่วยเกิดจากความผิดปกติของบริเวณเล็กๆ ในสมอง ที่ไม่ไดทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สมองส่วนที่ไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพูด, ภาษา และการได้ยิน ซึ่งถ้าผ่าตัดเอาสมองส่วนที่ผิดปกตินั้นออก จะทำให้ผลการรักษาได้ผลดี การผ่าตัดในปัจจุบันมีความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้สามารถเข้าถึงสมองส่วนที่ผิดปกติได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อสมองบริเวณอื่น ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้ป่วยมีโอกาสหายมากขึ้น

3. การรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นทางไฟฟ้าไว้ที่บริเวณคอของผู้ป่วย (Vagus nerve stimulation) : ยังไม่รู้กลไกของการักษาด้วยวิธีนี้ แต่พบว่าวิธีนี้สามารถลดอาการชักได้ร้อยละ 30-40 โดยมีผลข้างเคียงของการรักษา คือ เสียงแหบ, เจ็บคอ, ไอ, หายใจไม่สะดวก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น
4. คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก :
  • พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการชัก
  • ผู้ป่วยโรคลมชักไม่ควรทำงานที่อาจเป็นอันตรายได้ในกรณีที่เกิดอาการชักขึ้น เช่น ทำงานกับเครื่องจักร, ทำงานที่สูง, ดำน้ำ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยควรมีบัตรประจำตัวที่แสดงว่าเป็นโรคลมชัก รวมทั้งเบอร์โทรติดต่อและที่อยู่ของญาติในกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะในเด็ก เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือหรือรักษาอย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการชักเกิดขึ้น
  • ให้คำแนะนำแก่ญาติและผู้ใกล้ชิด เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการชัก เช่น
    • ไม่ควรตื่นตระหนก ตั้งสติให้ดี
    • ควรจับผู้ป่วยให้นอนตะแคงข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก
    • จัดการให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวปลอดภัยกับผู้ป่วย เช่น นำโต๊ะหรือข้าวของที่อยู่รอบๆ ออก เพื่อป้องกันแขนขาผู้ป่วยเหวี่ยงไปโดน
    • ไม่ต้องพยายามฝืนท่าทางผู้ป่วยในขณะชัก เช่น พยายามทำให้ผู้ป่วยหยุดกระตุก เพราะไม่ได้ผลและอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายได้
    • ไม่ต้องใช้ช้อนหรือสิ่งอื่น งัดฟันผู้ป่วย ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยกัดลิ้นตนเอง เพราะอาจทำให้ฟันหักและสำลักเข้าปอดได้
    • ถ้าผู้ป่วยไม่หยุดชักภายใน 5 นาที ให้รีบพาไปโรงพยาบาล
  • ในกรณีผู้ป่วยหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน และควรรับประทานวิตามินเสริม, กรดโฟลิกและวิตามินบีรวม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ จากการที่ผู้ป่วยใช้ยากันชักระหว่างตั้งครรภ์

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย diazepam, phenytoin, phenobarbitol, valproate

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. วิทยา ศรีดามา. ตำราอายุรศาสตร์3. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2549; 80-113.
  3. สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล และ มาลัย ว่องชาญชัยเลิศ. กุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. ชานเมืองการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่2. 2549; 381-391.
  4. Seizures and epilepsy: Hope through research. National Institute of Neurological Disorders and Stroke. http://www.ninds.nih.gov/disorders/epilepsy/detail_epilepsy.htm. Accessed Feb. 2, 2009.
  5. Schachter SC, et al. Overview of the management of epilepsy in adults. http://uptodate.com/home/index.html. Accessed Jan. 6, 2009.
  6. Wilfong A, et al. Overview of the classification, etiology, and clinical features of pediatric seizures and epilepsy. http://uptodate.com/home/index.html. Accessed Jan. 6, 2009.


27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย