ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 3200
Small_font Large_font

ไขมันในเลือด (Dyslipidaemia)

คำจำกัดความ

ไขมัน เป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างหนึ่งในร่างกายของมนุษย์ โดยมีหน้าที่คือ เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย , เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างของผนังเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย, เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนต่างๆ และน้ำดี ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารไขมัน

แต่ถ้าร่างกายของเรามีไขมันมากเกินไป จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย คือ จะไปสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา ( ประกอบด้วยโรคหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาตีบตัน) ดังนั้นจึงเรียกภาวะที่ร่างกายมีไขมันมากกว่าค่าที่เหมาะสม ว่าโรคไขมันในเลือดสูง

ร่างกายของคนเราได้ cholesterol มาจากสองแหล่งคือ

  • จากอาหารที่เรารับประทาน เช่น เครื่องใน, เนื้อ, นม
  • จากการสร้างของตับ

อาการ

ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง แต่จะทราบจากการตรวจเลือดพบระดับไขมันในเลือดสูงผิดปกติ ทั้งจากการตรวจสุขภาพประจำปีและตอนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไขมันในเลือดสูง

ผู้ป่วยส่วนน้อย อาจมีอาการแสดงจากภาวะไขมันในเลือดที่สูงมากๆ เช่น ตรวจพบปื้นสีเหลืองที่บริเวณเปลือกตาบน (xanthelasma)

สาเหตุ

ก่อนการรักษาโรคไขมันสูง ต้องพยายามหาสาเหตุที่แก้ไขได้ เพราะหากพบและแก้ที่ต้นเหตุสำเร็จก็อาจจะไม่ต้องรับประทานยาลดไขมัน

ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้

  • ยาบางชนิด เช่น ยา steroid, ยาลดความดันกลุ่มยาขับปัสสาวะ, ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
  • โรคบางอย่างมักจะพบร่วมกับภาวะไขมันสูง ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคตับ, โรคไต, ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยหรือมากกว่าปกติ, โรคอ้วน เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • การขาดการออกกำลังกาย
  • การดื่มสุรามาก
  • ความเครียด

ปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้

  • กรรมพันธุ์
  • เพศ : เพศชายพบมากกว่าเพศหญิงในอายุที่เท่ากัน เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนช่วยให้มีไขมันตัวดี/HDL สูง
  • อายุที่มากขึ้น

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดผิดปกติ ทำโดยการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด หลังจากที่ผู้ป่วยงดอาหาร (ยกเว้นน้ำเปล่า) นาน 9-12 ชั่วโมง โดยแพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจระดับไขมันในร่างกายทั้ง 4 ชนิด คือ

  1. โคเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) : ไขมันชนิดนี้พบในอาหารจำพวกไข่แดง, อาหารทะเล, เครื่องในสัตว์, อาหารทอดและ กะทิ เป็นต้น ค่าโคเลสเตอรอลรวมที่สูงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองตีบ Total cholesterol ค่าที่เหมาะสม น้อยกว่า 200 ค่าที่ก้ำกึ่ง200-239 ค่าที่สูงกว่าปกติมากกว่า 240
  2. แอลดีแอล (LDL cholesterol) : หรือไขมันไม่ดี เป็นไขมันที่ทำหน้าที่นำ cholesterol ที่สร้างจากตับไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้ามีไขมัน LDL มาก ไขมันส่วนเกินจะค่อยๆ สะสมเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยตรง ค่าที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับลักษณะและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละราย
  3. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) : ไขมันชนิดนี้พบในอาหารจำพวกแป้ง ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนของการที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์กับการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ Triglyceride ค่าที่เหมาะสม น้อยกว่า 150bbbค่าที่ก้ำกึ่ง150-199 ค่าที่สูงกว่าปกติมากกว่า 200
  4. เอชดีแอล (HDL cholesterol) : หรือไขมันดี ) ทำหน้าที่เป็นตัวพา cholesterol จากส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าไปทำลายที่ตับ เป็นไขมันที่ได้มาจากการออกกำลังกาย ถ้ามีไขมันชนิดนี้สูง จะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ค่าปกติควรมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และถ้ามีค่ามากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีค่าไขมันดีสูง จนสามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดได้

ภาวะแทรกซ้อน

เกิดจากเซลล์ต่างๆในร่างกาย เมื่อได้รับไขมันโคเลสเตอรอลเพียงพอแล้ว ก็จะหยุดการรับโคเลสเตอรอลเข้าเซลล์ ทำให้โคเลสเตอรอลส่วนที่เกินไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดและไปเกาะอยู่ตามผนังของเส้นเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงตีบลงเรื่อยๆ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายลดลง ทำให้เกิดอาการขาดเลือดของอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญ คือ

  1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (coronary artery disease) : เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของประเทศ ภาวะไขมันในโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจตามมา
  2. โรคหลอดเลือดสมองตีบ (cerebral infarction) : ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอัมพฤกษ์และอัมพาตตามมา
  3. โรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบ (peripheral arterial disease) : มักแสดงอาการที่ขามากกว่าที่แขน ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการ
    • แผลหายช้า เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เป็นแผลไม่เพียงพอ
    • อาการปวดน่องเวลาเดินนานๆ นั่งพักแล้วดีขึ้น แต่พอเดินซ้ำด้วยระยะทางใกล้เคียงกับครั้งก่อน ก็จะมีอาการปวดน่องอีก เกิดจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงขาตีบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณขาพอเฉพาะช่วงที่อยู่เฉยๆ แต่พอกล้ามเนื้อทำงานตอนที่เราเดิน เลือดจะไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้เกิดอาการปวดน่องตามมา
    • ขาส่วนปลายปวด,เย็นหรือผิวสีคล้ำจากเนื้อตาย เกิดจากหลอดเลือดส่วนปลายที่ไปเลี้ยงขาเกิดการอุดตันแบบสมบูรณ์ จนไม่มีเลือดไปเลี้ยงขาเลย

การรักษาและยา

การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ประกอบด้วย

  1. การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม :
    • หยุดสูบบุหรี่
    • คลายเครียด
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งนานอย่างน้อย 30 นาทีและขณะออกกำลังกายต้องมีความหนักมากพอ คือ รู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงเพิ่มขึ้นหรือเหนื่อยจนไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ พูดได้แค่เป็นคำๆ การออกกำลังกายจะช่วยลดปริมาณไขมันไม่ดีและช่วยเพิ่มระดับไขมันดีในเลือด
  2. กินอาหารที่เหมาะสม : หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารต่อไปนี้
    • ไขมันสัตว์ : เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน, หนังสัตว์
    • อาหารประเภททอด : เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่ มักใช้น้ำมันปาล์มในการทอดอาหาร
    • ทำอาหารโดยใช้ไขมันที่สกัดจากพืช แทนไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง, รำข้าว, ถั่วลิสง, เมล็ดดอกทานตะวัน, เมล็ดดอกคำฝอย
    • มะพร้าวและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากมะพร้าว เช่น กะทิ
    • นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย, ครีมเทียม (ควรบริโภคนมพร่องมันเนยแทน)
    • ขนมหวาน, ข้าวและแป้งต่างๆ และแอลกอฮอร์ : เพราะจะสะสมเกิดเป็นไตรกลีเซอไรด์
    • อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องในสัตว์, ไข่แดง (คนปกติสามารถรับประทานไข่ได้วันละฟอง แต่คนที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงหรือเป็นโรคเบาหวานควรรับประทานไข่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ฟองต่อสัปดาห์), อาหารทะเล (ยกเว้นปลา ซึ่งนอกจากจะมีโคเลสเตอรอลต่ำแล้ว ยังมีไขมัน omega-3 ที่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ดังนั้นสมาคมโรคหัวใจจึงแนะนำให้รับประทานปลา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง )
    • ลดน้ำหนักตัว ในกรณีที่คุณมีน้ำหนักเกิน โดยการลดอาหารและออกกำลังกาย
  3. การรักษาด้วยยา : ใช้ในกรณีที่ให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนาน 3-6 เดือนแล้วไขมันไม่ดียังสูงเกินเป้าหมาย ยาที่ใช้รักษามีหลายชนิด หลักการเลือกใช้ยาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของไขมันสูง โดยก่อนเริ่มให้ยารักษา ผู้ป่วยจะถูกเจาะเลือดเพื่อประเมินการทำงานของตับและไตว่ายังทำงานได้ดีพอจะกำจัดยาออกจากร่างกายหรือไม่ และหลังจากรักษาไปแล้ว ผู้ป่วยจะต้องถูกเจาะเลือดเป็นระยะ เพื่อ
    • ประเมินดูการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดว่าตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ และพิจารณาปรับขนาดยา
    • ประเมินการทำงานของตับและไตว่ามีผลเสียจากการให้ยาหรือไม่ และพิจารณาปรับขนาดของยาตามค่าการทำงานของตับและไต

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย simvastatin, gemfibrozil

แหล่งอ้างอิง

  1. วิทยา ศรีดามา. Evidence-based clinical practice guideline ทางอายุรกรรม 2548. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่4. 2548; 179-193.
  2. วิทยา ศรีดามา. ตำราอายุรศาสตร์3. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550; 303-316.


18 กรกฎาคม 2553 19 ธันวาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย