ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 957
Small_font Large_font

เบาหวาน (Diabetes mellitus)

คำจำกัดความ

ฮอร์โมนอินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่นำน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าในเซลล์ เพื่อใช้ในการเผาผลาญในเซลล์ และสร้างเป็นแป้งเก็บไว้ในเซลล์ (ไกลโคเจน) จึงช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) เกิดจากภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือไม่ได้ขาดแต่ฮอร์โมนอินซูลินที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้ตามปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด

โรคเบาหวานไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่ตัวเลขของน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ แต่เป็นโรคที่สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้มากมาย ซึ่งมักเป็นเหตุให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้

โรคเบาหวานแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

  • เบาหวานชนิดที่ 1 /เบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน [DM type I / insulin dependence DM] : มักพบในคนอายุน้อย เป็นภาวะที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินทดแทนตลอดชีวิต
  • เบาหวานชนิดที่ 2 /เบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน [DM type II / Non- insulin dependence DM] : มักพบในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีและพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ เป็นภาวะที่ตับอ่อนยังสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ในจำนวนที่ปกติหรือน้อยลงหรืออาจมากขึ้นก็ได้ แต่อินซูลินที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพในการนำน้ำตาลเข้าเซลล์ได้ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ในระยะแรกสามารถให้การรักษาโดยการกินยากระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินมากขึ้นหรือยากระตุ้นให้ฮอร์โมนอินซูลินที่มีอยู่ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี ระยะหลังของโรคก็อาจมีความจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินทดแทน

อาการ

ในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคอย่างรวดเร็ว จากภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ในขณะที่ถ้าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาการของโรคจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเวลาแพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวาน คุณอาจจะเป็นโรคเบาหวานอยู่นานหลายปีแล้วก็ได้แต่ไม่รู้ตัว หรือผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคเส้นเลือดสมองตีบ แล้วจึงตรวจพบว่ามีโรคเบาหวานร่วมด้วย

อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีดังนี้

  • หิวน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น : เกิดจากในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ มีน้ำตาลค้างอยู่มาก ไตจึงทำการกรองน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก นอกจากนี้ปัสสาวะจะมีรสหวาน ซึ่งสังเกตุได้จากการที่มีมดมาตอมปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของการเรียกว่าโรค เบาหวาน
  • รับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น
  • น้ำหนักลดมาก ทั้งที่กินได้ดี : เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปสร้างพลังงานได้เต็มที่ จึงต้องนำไขมันและโปรตีนที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานแทน
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ตาลาย
  • แผลหายช้า
  • ติดเชื้อบ่อยๆ โดยเฉพาะเชื้อรา
  • อาการชาไม่ค่อยมีความรู้สึก เนื่องจากโรคเบาหวานจะทำลายเส้นประสาทให้เสื่อมสมรรถภาพลง ทำให้ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกถดถอยลง หรือบางคนแสดงออกด้วยอาการปวดแปล๊บๆ เหมือนไฟช็อตที่ปลายมือปลายเท้า
  • มาด้วยอาการของโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

สาเหตุ

สาเหตุ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ตามชนิดของโรคเบาหวาน คือ
1.เบาหวานชนิดที่ 1 /เบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน [DM type I / insulin dependence DM] : เกิดจากภูมิต้านทานของร่างกายทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ทำให้ร่างกายหยุดการสร้างอินซูลิน (insulin deficiency)

2.เบาหวานชนิดที่ 2 /เบาหวานที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน [DM type II / Non- insulin dependence DM] : เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (insulin resistance) ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ไม่ได้เต็มที่ โดยสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน คือ

  • กรรมพันธุ์ : คนที่มีประวัติพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนทั่วไป
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม : ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน เช่น ความอ้วน, การตั้งครรภ์, ความเครียด, อายุที่มากขึ้น เป็นต้น

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย : ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะตรวจร่างกายแล้วปกติ ยกเว้นอาจตรวจพบ

  • กรณีมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น มีแผลเรื้อรัง
  • พบการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่เป็นลักษณะของโรคเบาหวาน เช่น เป็นผื่นรูปร่างกลมสีคล้ำ กระจายอยู่ที่ขา 2 ข้าง (Shin spot)
  • พบผื่นสีคล้ำ นูนหนาที่บริเวณรักแร้หรือท้ายทอย ซึ่งแสดงถึงร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : การวินิจฉัยโรคเบาหวานในปัจจุบัน ดูจากค่าน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก ประกอบด้วย
1. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากงดอาหารที่มีแคลอรี่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FBS, Fasting blood sugar) : การแปลผล คือ

  • ค่าของคนปกติจะไม่เกิน 100 mg/dL
  • ถ้าค่าสูงกว่า 126 mg/dL ในการวัดสองครั้งที่แตกต่างกัน หรือสูงแค่ 1 ครั้งร่วมกับมีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวาน แพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • ถ้าค่าอยู่ระหว่าง 100-125 mg/dL แสดงว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน แต่ยังไม่จำเป็นต้องรักษา ถ้าควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ระดับน้ำตาลก็อาจจะกลับมาเป็นปกติได้ แต่ถ้ายังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ก็อาจจะกลายเป็นโรคเบาหวานตามมาได้

2. การตรวจน้ำตาลเวลาไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องงดอาหาร (Random blood sugar) : ถ้าได้ค่ามากกว่า 200 mg/dL ถือว่าผิดปกติ โดยถ้ามีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวาน แพทย์ก็จะวินิจฉัยโรคเบาหวานเลย แต่ถ้าไม่มีอาการ แพทย์จะแนะนำให้งดอาหาร 8 ชั่วโมงแล้วค่อยมาตรวจน้ำตาล FBS ซ้ำ

3. การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังจากกินน้ำหวาน (OGTT, Oral glucose tolerance test) : ทำเฉพาะรายที่มีอาการเข้าได้กับโรคเบาหวานแต่ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากงดอาหาร 8 ชั่วโมงแล้วได้ค่าปกติ การแปลผล

  • ค่าของคนปกติจะไม่เกิน 140 mg/dL
  • ถ้าค่าสูงกว่า 200 mg/dL ในการวัดสองครั้งที่แตกต่างกัน หรือสูงแค่ 1 ครั้งร่วมกับมีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวาน แพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • ถ้าค่าอยู่ระหว่าง 140-199 mg/dL เป็นภาวะที่ร่างกายเริ่มมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน แต่ยังไม่จำเป็นต้องรักษา ถ้าควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ระดับน้ำตาลก็อาจจะกลับมาเป็นปกติได้ แต่ถ้ายังปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ก็อาจจะกลายเป็นโรคเบาหวานตามมาได้

4. การทดสอบฮีโมโกลบิน A1C : การทดสอบนี้จะบ่งบองถึงระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน แต่ใช้ในการดูว่าผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีหรือไม่ โดยในผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ดี ควรมีค่านี้น้อยกว่า 7 %

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะของร่างกาย คือ
1. ภาวะแทรกซ้อนทางสายตา : แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • จอประสาทตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน (Diabetic retinopathy) : เกิดจากการที่น้ำตาลเข้าไปในเยื่อบุของหลอดเลือดเล็กๆ ในลูกตา ทำให้หลอดเลือดเหล่านี้สร้างสารออกมาทำให้หลอดเลือดเปราะและฉีกขาดได้ง่าย ทำให้เลือดและสารบางอย่างที่อยู่ในเลือดรั่วออกมาอยู่บนจอประสาทตา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวหรือมองเห็นจุดดำลอยไปมา ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด
  • ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ได้เกิดที่จอประสาทตา : ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดโรคทางตาต่อไปนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น กระจกตาเป็นแผล, ต้อกระจก, ต้อหินชนิดมุมเปิด เป็นต้น

2. ภาวะแทรกซ้อนทางไต (Diabetic nephropathy) : โรคเบาหวานทำให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดเลือดเล็กๆ ที่หน่วยกรองของไต ทำให้มีโปรตีนรั่วออกมาจากหน่วยกรอง ส่งผลให้ท่อในไตส่วนถัดมา ( Proximal tubule) ต้องรับภาระในการดูดกลับสารต่างๆ ที่รั่วออกมามากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้นานๆ ก็จะทำให้ไตเสื่อมลงเรื่อยๆ จนเกิดภาวะไตวายได้ในที่สุด

3. ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (Diabetic neuropathy) : โรคเบาหวาน จะทำให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงเส้นประสาทเสื่อมลม ทำให้เส้นประสาทไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาการแบ่งตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่เสื่อม ได้เป็น

  • เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม : ผู้ป่วยจะมีรู้สึกชา ทำให้มักเกิดแผลที่เท้าโดยไม่รู้สึกตัว หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลาย
  • เส้นประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม : ผู้ป่วยจะมีอาการลุกนั่งเร็วๆ แล้วเวียนศีรษะ, ลำไส้บีบตัวน้อยลง ทำให้มีอาการท้องอืดหรืออาหารย่อยยาก, กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ปกติ (neurogenic bladder), ในผู้ชายอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (impotence)

4. ภาวะเทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายมีไขมันมาสะสมและแข็งกว่าปกติ (Atherosclerosis) : ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบและมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) , โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease) และโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vascular disease)

การรักษาและยา

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ที่รักษาไม่หายขาดแต่ควบคุมได้ โดยการดูแลรักษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด เพื่อจุดประสงค์ คือ

  • ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ จากโรคเบาหวาน
  • ให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติ หรือสามารถประกอบภาระกิจต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป

การรักษาเบาหวานให้ได้ผลดี จะต้องประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : ประกอบด้วย
1.1 การควบคุมอาหาร : อาหารของผู้ป่วยเบาหวานแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานห้ามกิน : ได้แก่ อาหารที่เป็นน้ำตาลทุกชนิด เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเร็ว เช่น น้ำปลาหวาน, ขนมหวานต่างๆ, น้ำผึ้ง, ผลไม้กระป๋อง, เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาล เช่น น้ำหวาน/น้ำอัดลม/น้ำผลไม้/นมปรุงแต่งรสหวาน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ควรหลีกเลี่ยง (เพราะให้พลังงานสูง และบางชนิดก็มีน้ำตาลสูง เช่น เบียร์หรือไวน์), ผลไม้ที่มีรสหวานจัดหรือมีน้ำตาลมาก (เช่น ทุเรียน, น้อยหน่า, สับปะรด, ลำไย เป็นต้น)
  • อาหารที่กินได้แต่จำกัดปริมาณ : ได้แก่ อาหารประเภทแป้ง (ข้าว,กวยเตี๋ยว, ขนมจีน) , ผลไม้ที่มีน้ำตาลค่อนข้างมาก (เช่น ส้ม, มะม่วง, องุ่น)
  • อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานกินได้ไม่จำกัด และควรกินให้มาก : เพราะให้พลังงานต่ำและมีใยอาหารสูง (ช่วยในการขับถ่าย) ได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด, ผลไม้ที่มีน้ำตาลค่อนข้างน้อย (เช่น มะละกอ, กล้วย, ฝรั่ง, แอปเปิ้ล)

สำหรับเครื่องดื่ม เช่น ชา, กาแฟ, โอวัลติน ถ้าต้องการรสหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมแทนน้ำตาลทราย เพราะน้ำตาลเทียมจะให้รสหวาน โดยให้พลังงานน้อย และไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง

1.2 การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง, การทำงานของหัวใจดีขึ้น, ลดความดันโลหิตและไขมันในเลือด, ลดน้ำหนัก, ลดความเครียด และที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของฮอร์โมนอินซูลิน
การออกกำลังกายอาจใช้การเดิน,วิ่ง, ขึ้นลงบันได, ถีบจักรยาน, กายบริหาร, รำมวยจีน, เล่นเทนนิส, ว่ายน้ำ เป็นต้น ผู้ป่วยควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกาย และที่สำคัญคือ ควรทำสม่ำเสมอเพื่อช่วยป้องกันโรคหัวใจ คือ ออกกำลังกายติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 15 – 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน :

  • อาจเกิดอาการน้ำตาลต่ำระหว่างออกกำลังกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้อินซูลินและใช้ยาเม็ดรักษาเบาหวานกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ป้องกันได้โดยการกินอาหารว่างรองท้อง 1-2 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย
  • อาจเกิดอุบัติเหตุได้ จากการมองเห็นไม่ชัดในกรณีที่เป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตา
  • อาจทำให้มีโอกาสเป็นแผลที่เท้าได้ ถ้าไม่ระวังระหว่างออกกำลังกาย

2. การรักษาด้วยยา :
2.1 การใช้ยากินเพื่อลดระดับน้ำตาล : แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการสร้างอินซูลินจากตับอ่อน : ได้แก่ Sulfonylureas (เช่น glipizide, glibenclamide), Repaglinide
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลิน ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างอินซูลิน : มักใช้ในคนอ้วน ได้แก่ Metformin , กลุ่ม Thiazolidinedione (เช่น Rosiglitazone, Pioglitazone)
  • กลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการช่วยลดการดูดซึมของอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลจากลำไส้ ทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น เช่น Acarbose พบอาการข้างเคียงทางระบบทางเดินอาหารได้บ่อยมาก เช่น ท้องอืด, มีลมมาก, ผายลมบ่อย และท้องเสีย

2.2 การฉีดยาอินซูลินเข้าไปทดแทน

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย glipizide, glibenclamide, Repaglinide, Metformin, Acarbose

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์3. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 171-186.
2. อมร ลีลารัศมี, ทัศนีย์ กิตอำนวยพงษ์, อุปถัมภ์ ศุภสิทธิ์ และ ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล, บรรณาธิการ. อายุรศาสตร์สัญจร เล่ม2. กรุงเทพฯ : บริษัทเท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น. 2553, 89-100.
3. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. Clinical practice guideline 2010 เล่มที่1. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553, 159-189.
4. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. Evidence-based clinical practice guideline ทางอายุรศาสตร์ 2548. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2548, 443-447.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย