ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2005
Small_font Large_font

ไข้เลือดออก (Dengue fever)

คำจำกัดความ

โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาจมีแค่อาการเล็กน้อยจนไปถึงอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ พบได้ในผู้ป่วยทุกอายุ แต่ผู้ป่วยเด็กมักจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่ เพราะเวลาไม่สบายมักจะกินน้ำไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้

อาการ

แบ่งอาการออกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามความรุนแรงของอาการ คือ
1. มีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงกับโรคไข้เลือดออก (Undifferentiated fever) : มักพบในเด็กเล็กที่ได้ติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นครั้งแรก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ไม่สูงมากและผื่นแดงตามตัว เป็นอยู่ 2-3 วัน

2. ไข้เลือดออกที่มีอาการไม่รุนแรง (Dengue fever) : ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ

  • ไข้ : ผู้ป่วยจะมีไข้สูงขึ้นอย่างฉับพลัน, ไข้สูงมาก อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และสูงลอย (เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ แล้วไข้มักไม่ลดลง หรือลดลงสักพักแต่พอหมดฤทธิ์ยาก็มีไข้ขึ้นมาใหม่) มีอาการอยู่นาน 2-7 วัน
  • มีผื่นขึ้น
  • ปวดศีรษะ, ปวดรอบกระบอกตา, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว, ปวดข้อและกระดูก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีเลือดออกผิดปกติ เช่น จุดเลือดออกตามแขนขา, มีเลือดกำเดาไหล

3. ไข้เลือดออกที่อาการรุนแรงมากขึ้น จากเชื้อไปทำลายหลอดเลือดและทางเดินน้ำเหลือง (Dengue hemorrhagic fever) : ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกลุ่มที่ 2 (Dengue fever) แต่จะมีอาการเพิ่มเติม คือ

  • ปวดแน่นท้องด้านบน จากตับโต
  • ตรวจเลือดพบจำนวนเกล็ดเลือดลดลงและค่าความเข้มข้นเลือดมากขึ้น (จากสารน้ำรั่วออกนอกเส้นเลือด)

4. ไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงมากจนเกิดภาวะความดันต่ำ (Dengue shock syndrome)

ถ้าแบ่งอาการของผู้ป่วยตามการดำเนินโรค สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะไข้สูง (Febrile stage) : ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูง 2-7 วัน ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหาร, คลื่นไส้อาเจียน, ปวดศีรษะ, ปวดรอบกระบอกตา, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว, ปวดข้อและกระดูก, หน้าแดง ตัวแดง, อาจมีผื่นแดงตามตัวหรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง
2. ระยะวิกฤติ (Toxic stage) : เป็นระยะไข้ลดลง 24-48 ชั่วโมงแรก (ประมาณวันที่ 3-10 ของโรค) เป็นระยะที่จะมีสารน้ำรั่วออกนอกเส้นเลือด ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีสารน้ำรั่วออกนอกเส้นเลือดปริมาณมาก ทำให้อาการทรุดลง
ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะเข้าสู่ระยะฟื้นตัวต่อ แต่ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจทำให้เข้าสู่ภาวะช็อคและอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
3. ระยะฟื้น (recovery phase) : อาการทั่วไปดีขึ้น (ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายตัวมากขึ้น, เริ่มรับประทานอาหารได้, ปัสสาวะออกปริมาณมากขึ้น), มักมีผื่นแดงที่แขนขา, ความดันโลหิตและชีพจรกลับเป็นปกติ, ตับที่โตจะลดขนาดลงจนปกติและจำนวนเกล็ดเลือดที่ลดลงจะเพิ่มขึ้นจนเท่าภาวะปกติภายใน 1-2 สัปดาห์

สาเหตุ

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่ของคน ชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือนและโรงเรียน, ชอบวางไข่ในน้ำสะอาดที่อยู่นิ่งๆ เช่น ตามภาชนะที่มีน้ำขัง (ยางรถยนต์, กะลา, กระป๋อง, จานรองขาตู้กับข้าว) แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นต้น
กลไกการติดเชื้อ คือ ยุงลายไปกัดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกซึ่งมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือด จากนั้นไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือดของยุง และเมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดอีกคน เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของอีกคนและทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก

ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ (Aedes aegypti) มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ถ้าเราติดเชื้อสายพันธุ์ไหน เราจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น แค่ 6-12 เดือน ทำให้คนเราสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง ถ้าเราติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับสายพันธุ์เดิม โดยการติดเชื้อครั้งแรก มักจะมีอาการไม่มาก แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สองมักทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่า

การวินิจฉัย

การซักประวัติ :

  • ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเฉพาะเจาะจงกับการติดเชื้อที่ส่วนใดของร่างกาย (ไม่มี่อาการหวัด, ไม่มีปัสสาวะแสบขัด, ไม่มีถ่ายเหลว, ไม่มีแผลติดเชื้อตามผิวหนัง เป็นต้น) และมีอาการแสดงที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับโรคไข้เลือดออก (ไข้, ปวดศีรษะ, ปวดรอบกระบอกตา, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว, ปวดข้อและกระดูก, คลื่นไส้อาเจียน, เบื่ออาหาร เป็นต้น) >> ทำให้แพทย์จัดอยู่ในกลุ่มไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ ต้องวินิจฉัยแยกโรคกับโรคอื่นที่อยู่ในกลุ่มไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุด้วย เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคมาลาเรีย, โรคฉี่หนู, ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยมีประวัติปัจจัยเสี่ยง คือ เดินทางไปต่างจังหวัด, มีโอกาสโดนยุงกัด หรือมีประวัติคนแถวบ้านป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก

การตรวจร่างกาย : ในโรคไข้เลือดออก การตรวจร่างกายประกอบด้วย

  • การตรวจหาตำแหน่งติดเชื้อเฉพาะ เพื่อบอกว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นกลุ่มไข้ไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีทอลซิลอักเสบ, มีปอดอักเสบติดเชื้อ, ไตอักเสบติดเชื้อฉับพลัน เป็นต้น
  • การตรวจร่างกายที่ทำให้สงสัยโรคไข้เลือดออก : ไม่มีการตรวจร่างกายใดที่เฉพาะเจาะจงกับโรคไข้เลือดออก แต่มักจะตรวจพบว่า มีหน้าแดงตัวแดงกว่าปกติ (flushing), มีตับโตและกดเจ็บ (liver congestion), มีจุดเลือดออกตามตัวเอง (petechiae) หรือมีจุดเลือดออกหลังจากแพทย์ใช้ที่วัดความดันโลหิตรัดแขนเป็นเวลา 5 นาที (Tournigue test positive)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม : ประกอบด้วย

  • การตรวจเม็ดเลือด (CBC) : ถ้าสงสัยโรคไข้เลือดออก แพทย์มักจะเจาะเลือดตอนมีไข้ครบ 3 วัน เพื่อรอให้ผลเลือดเปลี่ยนแปลงก่อน ในโรคนี้จะพบลักษณะ คือ เม็ดเลือดขาวลดลงแต่มีเม็ดเลือดขาวกลุ่ม lymphocyte ที่แสดงถึงการติดเชื้อไวรัสสูงขึ้น, มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • การทดสอบหาภูมิต้านทานของร่างกายต่อการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก (dengue antibody) : เป็นการทดสอบเฉพาะ ใช้เวลาหลายวันกว่าจะรู้ผลการตรวจ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ การตรวจครั้งแรกมักจะให้ผลปกติ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเลือดซ้ำอีก 2 สัปดาห์ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของภูมิต้านทานของร่างกายต่อการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งจะพบว่าร่างกายมีภูมิต้านทานสูงขึ้นมากกว่า 4 เท่า ดังนั้นจะเห็นว่าการทดสอบนี้ไม่ได้ช่วยในการรักษา (เพราะกว่าผลจะออก ผู้ป่วยก็หายจากโรคแล้ว) แค่ช่วยในการยืนยันการวินิจฉัยโรคเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออกทุกราย เพราะเป็นการทดสอบที่ทำยาก ไม่ได้ทำได้ทุกโรงพยาบาล, ราคาแพง และทำให้ผู้ป่วยเจ็บเวลาเจาะเลือด 2 ครั้ง

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่คนทิ่เป็นไข้เลือดออกจะหายได้เองภายใน 5-14 วัน แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ

  • ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจนำไปสู่ dengue hemorrhagic fever หรือ dengue shock syndrome ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อคตามมา ซึ่งภาวะนี้ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้ารักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระยะฟื้นได้ แต่ถ้ารักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • ในเด็กเล็ก (น้อยกว่า 6 ขวบ) ถ้าไม่เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ให้ดี ปล่อยให้เด็กมีไข้สูงอยู๋นานอาจทำให้เกิดภาวะชักจากไข้สูงได้ (Febrile convulsion)
  • ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มักมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำมากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ เช่น เลือดออกตามไรฟัน, เลือดกำเดาไหล, ในรายที่รุนแรงมาก อาจมีเลือดออกในสมองได้

การรักษาและยา

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่มีการรักษาจำเพาะ (ไม่มียาฆ่าเชื้อเหมือนการติดเชื้อแบคทีเรีย) ผู้ป่วยจะหายจากโรคได้เองจากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง แพทย์แค่ให้การรักษาตามอาการและคอยเฝ้าระวังและรักษารายที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน

การรักษาโรคไข้เลือดออก แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ตามการดำเนินโรค คือ
1. ระยะไข้ : ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ดูแลอาการที่บ้านได้และนัดมาดูอาการซ้ำตอนมีไข้ครบ 3 วัน เพื่อเจาะเลือด การดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ประกอบด้วย

  • แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะรขาดน้ำจากการอาเจียนและไข้สูง โดยให้ดื่มเป็นสารน้ำแทนการดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว เช่น น้ำหวาน, นม หรือน้ำเกลือแร่
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ แต่กินถี่ๆ เพื่อป้องกันการอาเจียน
  • ไม่มีข้อห้ามในการกินอาหาร แต่แนะนำให้งดอาหารที่มีสีดำหรือแดง เช่น น้ำแดง, แตงโม หรือช็อคโกแลต เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างอาเจียนเป็นอาหารสีแดงกับการอาเจียนเป็นเลือด
  • ลดไข้ด้วยการกินยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอลและเช็ดตัวบ่อยๆ ห้ามกินยาลดไข้ตัวอื่น คือ แอสไพริน (aspirin) หรือยาแก้อักเสบ (NSAID) เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกแทรกซ้อน
  • รักษาอาการปวดเมื่อยตามตัวด้วยยาพาราเซตามอล หรือถ้าปวดมากจะให้ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน (Tramadol) ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดกินเอง เพราะถ้าเป็นยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAID เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกแทรกซ้อน
  • ให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน, น้ำเกลือแร่, ยาลดน้ำมูก, ยาละลายเสมหะ
  • ไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อ เพราะไม่ช่วยให้หายจากโรคเร็วขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ยา
  • ข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาล :
    • อ่อนเพลียมาก ไม่สามารถกินน้ำและอาหารได้หรืออาเจียนมาก จำเป็นต้องได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
    • มีอาการเลือดออกผิดปกติ
    • มีอาการซึม, เอะอะโวยวาย, เด็กร้องกวนมากผิดปกติ
    • ผู้ป่วยที่บ้านอยู่ไกล กรณีมีอาการฉุกเฉินไม่สามารถเดินทางกลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที

2. ระยะวิกฤต : เป็นระยะที่ผู้ป่วยผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งหรือผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด การดูแลรักษาประกอบด้วย

  • การวัดสัญญาณชีพบ่อยๆ เพื่อเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตตก
  • ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ชดเชยน้ำเลือดที่รั่วออกนอกเส้นเลือด
  • ให้การรักษาตามอาการ
  • ในรายที่เกิดภาวะช็อค จะพิจารณาให้น้ำเกลือและออกซิเจน

3.ระยะฟื้นตัว : หลังจากไข้ลดลงดี 24-48 ชั่วโมง และผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น แพทย์จะให้กลับบ้าน พร้อมกับการดูแลรักษา คือ

  • ภายใน 1-2 สัปดาห์แรกที่ยังมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แนะนำให้ระวังภาวะเลือดออกผิดปกติ โดยระมัดระวังการกระทบกระแทก (เช่น งดการออกกำลังกายที่รุนแรง, งดการนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์) และงดการทำหัตถการที่รุนแรง (เช่น การถอนฟัน, การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ)
  • ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยากินและยาทาลดอาการผื่นคันตามแขนขา

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก : ทำได้โดย

  • พยายามไม่ให้ถูกยุงกัด
  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยการทำลายภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นที่ที่ยุงลายชอบวางไข่
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือด ทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้
  • รายงานคนไข้ไปที่โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการกำจัดยุงบริเวณนั้นและควบคุมโรคก่อนที่จะมีการระบาดเพิ่ม

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Paracetamol, Tramadol , domperidone

แหล่งอ้างอิง

1. ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ และสุจิตรา นิมมานนิตย์, บรรณาธิการ. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี. กระทรางสาธารณสุข. ฉบับแก้ไขปรับปรุง ครั้งที่1. 2552.
2. พรรณทิพย์ ฉายากุล, ชิษณุ พันธุ์เจริญ และคณะ, บรรณาธิการ. ตำราโรคติดเชื้อ. สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. 2548, 507-518.
3. ประยงค์ เวชวนิชสนอง, วนพร อนันตเสรี , บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์. 2550, 133-150.
4. สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล, มาลัย ว่องชาญชัยเลิศ, บรรณาธิการ. กุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่2. 2549, 261-266.



27 พฤษภาคม 2553 08 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย