ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 101
Small_font Large_font

ผื่นแพ้จากการสัมผัส (contact dermatitis)

คำจำกัดความ

ผื่นแพ้จากการสัมผัส หมายถึง อาการผื่นคัน ที่เกิดจากการสัมผัสถูกสิ่งกระตุ้นจากภายนอกร่างกายซึ่งเป็นสารระคายเคือง หรือสารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้
ผื่นแพ้จากการสัมผัสมีสองชนิดคือ
1.Irritant dermatitis เกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่ระคายเคือง จนทำลายเซลล์ผิวหนังโดยตรง เกิดจากสารระคายเช่นการใช้น้ำหอม สบู่ ผงซักฟอก ครีมดับกลิ่น เครื่องสำอาง พวกนี้จะเกิดผื่นหลังจากสัมผัสไม่นาน เช่น ภายใน 1-2 วันหลังสัมผัส
2.Allergic contact dermatitis เป็นผื่นจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารที่สัมผัส มักจะเกิดหลังจากสัมผัสเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ลักษณะจะเป็นผื่นแดง บวม คัน และอาจจะมีถุงน้ำ เช่นการแพ้สายรองเท้า สายนาฬิกา

อาการ

มีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ มีอาการคันมาก ซึ่งจะขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ อาจทำให้เห็นเป็นรอยของสิ่งที่แพ้ เช่น รอยสายนาฬิกา สร้อยคอ ขอบกางเกง สายรองเท้า เป็นต้น บางคนอาจเป็นตุ่มน้ำใส อาจติดต่อกันจนเป็นตุ่มพองใหญ่ เมื่อแตกออก จะมีน้ำเหลืองไหล และมีสะเก็ดเกรอะกรัง เมื่ออาการทุเลา ผิวหนังอาจแห้งเป็นขุย หรือ หนาตัวขึ้นชั่วคราว บางคนผิวหนังอาจคล้ำลง หรือเป็นรอยด่างขาวชั่วคราว
ผู้ป่วยมักมีลักษณะของผื่นที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะเฉียบพลัน (Acute stage) เป็นตุ่มแดง,ตุ่มน้ำ อาจมีอาการบวมแดง และ มีน้ำเหลืองด้วย
2. ระยะปานกลาง( Subacute stage) อาการบวมแดงจะลดลง และมีสะเก็ด หรือ ขุยร่วมด้วย
3. ระยะเรื้อรัง (Chronic stage) ผื่นจะมีลักษณะหนา,แข็งและมีลายเส้นของผิวหนังชัดเจนขึ้น (Lichenification)

สาเหตุ

การเกิดผื่นอาจเป็นผลมาจากข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1. การระคายเคืองต่อผิวหนัง เนื่องจากการถูกสารระคายเคือง ทำให้ผิวหนังเกิด การอักเสบ เช่น กรด ด่าง สบู่ ผงซักฟอก ยางไม้ (ยางมะม่วง ต้นรัก) เป็นต้น
2. การแพ้ โดยที่ผู้ป่วยจะต้องเคยสัมผัสถูกสารแพ้มาอย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อน แล้วร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเมื่อสัมผัสซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ก็ทำให้เกิดอาการแพ้การสัมผัสครั้งแรกกับครั้งหลัง อาจห่างกันเป็นวัน ๆ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้
สารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เช่น โลหะ (นิกเกิล โครเมียมโคบอลด์ เงิน ปรอท) ยาทาเฉพาะที่ (เช่น เพนิซิลลิน ซัลฟานีโอไมซิน แอนติฮิสตามีน ยาชา) พลาสเตอร์, เครื่องสำอาง (เช่น ยาย้อมผม น้ำหอม ยาทาเล็บลิปสติก), เครื่องแต่งกาย (รองเท้า ถุงมือ เสื้อผ้า), ปูนซีเมนต์, สี ,สารเคมีต่าง ๆ เป็นต้น
โรคนี้จึงพบบ่อยในคนที่ทำงานบ้าน, ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสถูกสารดังกล่าวเป็นประจำ

การวินิจฉัย

1. อาการทางคลินิก พบผื่นแบบ eczematous dermatitis ที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น.
2. ประวัติสัมผัสสารที่แพ้.
3. Patch test ให้ผลบวก.

ภาวะแทรกซ้อน

เนื่องจากผื่นในโรคนี้จะมีอาการคันมาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจเกาจนมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะผื่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ผื่นบวมแดงมากขึ้น, มีน้ำไหลเยิ้มออกจากแผลมากขึ้น และผิวหนังรอบผื่นบวมแดงร้อน

การรักษาและยา

การรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับการค้นหาสาเหตุของการแพ้ ซึ่งส่วนมากจะวินิจฉัยได้จากการซักถามประวัติและตำแหน่งที่เป็น หรือไม่ก็สามารถบอกจากการทดสอบทางผิวหนัง ต้องหลีกเลี่ยงสารที่ก่อภูมิแพ้อย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อให้ภูมิลดลง และเพื่อให้ผื่นหาย หากหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้มักจะหายใน 2-3 สัปดาห์หรือ 2-3 เดือน
1. ควรหาสาเหตุที่แพ้แล้วหลีกเลี่ยง โดยสังเกตจาก
1.1 ตำแหน่งที่เป็น เช่น ที่ศีรษะอาจแพ้ยาย้อมผม แชมพูสระผม น้ำมันใส่ผม, ที่ใบหูอาจแพ้ตุ้มหู, ที่ ใบหน้าอาจแพ้เครื่องสำอาง, ที่คออาจแพ้น้ำหอม สร้อยคอ, ที่ลำตัวอาจแพ้เสื้อผ้า สบู่, ที่ขาและเท้า อาจแพ้ถุงเท้ารองเท้า (หนังหรือยาง), ที่มือและเท้าอาจแพ้ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์, ที่แขนหรือขาอาจ แพ้ยุงแมลง เป็นต้น
1.2 อาชีพ และงานอดิเรก เช่น คนขับรถอาจแพ้เบนซิน น้ำมันเครื่อง, แม่บ้านหรือคนซักผ้าอาจแพ้ ผงซักฟอก, ช่างปูนอาจแพ้ปูนซีเมนต์ เป็นต้น
2. รักษาผื่นแพ้โดย
2.1.รักษาตามระยะของผิวหนังที่เกิดการอักเสบ
2.1.1 ระยะเฉียบพลัน: ประคบผื่นด้วยน้ำเกลือ หรือ น้ำยา Burrow 1:40 หรือ Boric Acid 3%วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อผื่นแห้งดีแล้วต้องหยุดประคบ มิฉะนั้นจะแห้งเกินไป ทำให้ตึงและแตก
2.1.2 ระยะปานกลาง: ใช้ยาทาสเตียรอยด์ ตามลักษณะ และ ตำแหน่งผื่นที่เป็น
2.1.3 ระยะเรื้อรัง: ใช้ยาทาสเตียรอยด์ อาจผสม พวก Salicylic acid หรือ ในรายที่เป็นผื่นหนาแข็ง อาจจำเป็นต้องฉีดยาที่บริเวณผื่น
2.2 ถ้าเป็นบริเวณกว้างร่วมกับมีอาการคันมาก ควรให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน, ไดเฟนไฮดรามีน หรือไดรอกไซซีน ครั้งละ 1/2 – 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
2.3 ถ้ามีหนองหรือน้ำเหลืองไหล ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลินวี , คล็อกซาซิลลิน หรือ อีริโทรไมซิน
3. ในรายที่เป็นรุนแรง ควรส่งโรงพยาบาลอาจต้องให้เพร็ดนิโซโลน กินนาน 10 วัน
4. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ควรแนะนำไปโรงพยาบาลเพื่อทำการทดสอบทางผิวหนังโดยวิธี Patch test (ใช้น้ำยาที่มี สารต่าง ๆ ปิดที่หลัง แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุซึ่งจะได้หาทางหลีกเลี่ยง)
5. การป้องกัน : การป้องกันผื่นแพ้จากการสัมผัสสามารถทำได้โดย
• ให้ล้างเสื้อด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้งหลังจากซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม
• ให้เลือกซื้อเสื้อผ้าที่เป็นสีธรรมชาติ หลีกเลี่ยงผ้าที่อัดกลีบ อาจจะใช้ผ้าไหมและผ้า polyester
• เสื้อผ้าใหม่ให้ซัก 5 ครั้งก่อนใส่
• สบู่ แชมพูและครีมนวดผมไม่ควรมีน้ำหอม
• หลีกเลี่ยงน้ำหอม โคโลน หลังโกนหนวด
• ไม่ใช้น้ำยาทาเล็บหรือ hair spray
• หลีกเลี่ยงสารที่ทำการทดสอบแล้วพบว่าแพ้
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น ผงซักฟอก, น้ำยาซักล้างชนิดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ผิวแตก, แห้ง และคัน มากขึ้น
• ใส่ถุงมือที่เหมาะสมกับการทำงาน เช่น ถุงมือผ้า , ถุงมือหนัง, ถุงมือยาง, ถุงมือ PVC เป็น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Burrow solution, TA cream, hydroxysine

แหล่งอ้างอิง

Mayo Foundation for Medical Education and Research : Contact dermatitis [online].,Available from ; URL :

  1. http://www.mayoclinic.com/health/contact-dermatitis/DS00985
  2. อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2545.
  3. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2548.



27 พฤษภาคม 2553 28 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย