ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 6822
Small_font Large_font

เยื่อบุตาขาวอักเสบ (conjunctivitis)

คำจำกัดความ

โรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาขาวที่คลุมหนังตาบนและล่าง รวมทั้งเยื่อบุตาที่คลุมตาขาว ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงเยื่อบุตามากขึ้น จึงมองเห็นตาขาวมีลักษณะเป็นสีแดง

เป็นโรคที่พบได้บ่อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาการตาแดงอาจจะเป็นแบบเฉียบพลัน ( เช่น เกิดตามหลังการสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา, การติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ) หรือเป็นแบบเรื้อรัง ( เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ขึ้นตา )

อาการ

ประกอบด้วย
1. อาการตาแดง : เป็นที่ตาข้างหนึ่งหรือสองข้าง

  • เป็นพร้อมกันทั้งสองตา :โดยมากมักจะเกิดจากภูมิแพ้
  • เป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วค่อยเป็นทั้ง 2 ตา : สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อ ทั้งแบคทีเรียและไวรัส

2. มีขี้ตา : ลักษณะของขี้ตา สามารถช่วยบอกสาเหตุของโรคตาแดงได้ เช่น
  • ขี้ตาใสเหมือนน้ำตา : มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
  • ขี้ตาเป็นเมือกขาว : มักจะเกิดจากโรคภูมิแพ้หรือตาแห้ง
  • ขี้ตาเป็นหนอง : มักจะร่วมกับมีคราบสะเก็ดติดที่ขนตา ทำให้ตอนเช้าเปิดตาลำบาก สาเหตุมักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

3. อาการคันตา : เป็นอาการที่สำคัญของผู้ป่วยตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้ โดยอาการคันอาจจะเป็นมากหรือน้อยไม่เท่ากันในผู้ป่วยแต่ละราย
4. มักไม่มีผลต่อการมองเห็น
5. มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าหูโตและเจ็บ : มักพบในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
หมายเหตุ : อาการตาแดงไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบเสมอไป เพราะอาจเป็นอาการร่วมของโรคที่รุนแรงและต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น โรคต้อหิน, กระจกตาถลอกหรือติดเชื้อ และม่านตาอักเสบ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการตาแดงร่วมกับมีอาการปวดตา, ตามัว , มองแสงจ้าไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการตาแดงร่วมกับอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาเฉพาะของแต่ละโรค

สาเหตุ

1. เกิดจากการติดเชื้อ : ส่วนใหญ่จะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาของเราโดยตรง ไม่ติดต่อทางการสบสายตา, ทางอากาศ, หรือทางการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้ติดโรคตาแดงจากผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น คือ

  • การคลุกคลีใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคตาแดง
  • ใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
  • ปล่อยให้ฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา
  • ปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมที่ตา
  • ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือและใบหน้า

โดยสาเหตุของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดตาแดงได้บ่อย คือ
1.1 เชื้อไวรัส : ที่พบบ่อยคือ ไวรัสกลุ่มอาดิโนไวรัส ( adenovirus ) ผู้ป่วยมักเป็นหวัดนำมาก่อนที่จะมีอาการตาแดงหรือมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง กลุ่มนี้เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน จะพบมีการระบาดเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในฤดูฝนซึ่งมีผู้ป่วยหวัดเป็นจำนวนมาก
1.2 เชื้อแบคทีเรีย
1.3 เชื้อคลามัยเดีย ( Chlamydia trachomatis )
2. เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ : เช่น ไรฝุ่น, ขนสัตว์ หรือเกสรดอกไม้ไปกระตุ้นมาสค์เซลล์ ( mast cell ) ที่บริเวณเยื่อบุตา ทำให้เกิดการหลั่งสารกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ออกมา (ที่สำคัญคือ สารฮีสตามีน)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการตาแดงเรื้อรัง โดยอาจมีอาการกำเริบเวลาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวหรือผู้ป่วยรายนั้นเป็นโรคภูมิแพ้ที่ระบบอื่นร่วมด้วย เช่นหอบหืด, ผื่นแพ้ผิวหนัง, ประวัติแพ้นมวัว เป็นต้น
3. เกิดตามหลังการสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา : เช่น มีประวัติสารเคมีกระเด็นเข้าตาก่อนที่จะมีอาการตาแดง
4. เกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมที่เปลือกตาและหน้ากระจกตา : เช่น มีประวัติแมลงหรือเศษฝุ่นเข้าตานำมาก่อน , ใส่คอนแทคเลนส์นานๆ เช่น ใส่นอนตลอดคืน

การวินิจฉัย

การหาสาเหตุของเยื่อบุตาขาวอักเสบ สามารถทำได้โดย
1. การซักประวัติอาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการคันและลักษณะของขี้ตา เมื่อทำร่วมกับการตรวจตาโดยใช้ไฟฉายธรรมดา สามารถวินิจฉัยสาเหตุได้เป็นส่วนใหญ่ของผู้ป่วย
2. การตรวจตาโดยใช้เครื่องตรวจตาเฉพาะ ซึ่งต้องทำการตรวจโดยจักษุแพทย์ มีความจำเป็นในรายที่อาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเบื้องต้นหรือเป็นซ้ำบ่อย เช่น ตาแดงจากโรคภูมิแพ้
3. การวินิจฉัยเยื่อบุตาขาวอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำได้โดยการเก็บขี้ตาที่เป็นหนองหรือขูดเยื่อตามาย้อมสีและเพาะเชื้อ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย

ภาวะแทรกซ้อน

ในผู้ป่วยบางราย เมื่ออาการตาแดงดีขึ้น อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา คือ กระจกตาดำอักเสบ โดยโรคนี้จะมีอาการ คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการตามัวลง ทั้งๆ ที่อาการตาแดงดีขึ้นมากแล้ว, มีอาการเคืองตามากและลืมตาไม่ค่อยได้ มักเกิดขึ้นในวันที่ 7-10 หลังเริ่มเป็นตาแดง โรคกระจกตาดำอักเสบนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเป็นอยู่นานหลายๆ เดือนกว่าจะหาย

การรักษาและยา

แม้ว่าบางสาเหตุของโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบจะสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาอะไร แต่บางสาเหตุอาจเกิดการอักเสบและการติดเชื้อลามไปที่กระจกตา จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและตาบอดได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการตาแดงทุกคน จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามแต่ละสาเหตุ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง
การรักษาภาวะเยื่อบุตาขาวอักเสบ แตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค คือ
โรคตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส (Viral Conjunctivitis) : การรักษาโรคนี้ประกอบด้วย
1. การรักษาเฉพาะ : ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง แต่โรคนี้สามารถหายได้เองใน 10-12 วันตามธรรมชาติของโรค การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ช่วยให้หายจากโรคเร็วขึ้น เช่นเดียวกับในโรคหวัด แต่แพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะแบบหยอดตาและป้ายตาแก่ผู้ป่วยด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งมักจะเกิดตามมาบ่อยๆ
2. การรักษาตามอาการ : โดย

  • ประคบเย็น วันละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ10-15 นาที
  • อย่าขยี้ตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบมากขึ้น
  • อย่าใส่ contact lens ช่วงที่มีตาแดง
  • เปลี่ยนปลอกหมอนทุกวัน
  • กรณีตาแห้ง ให้หยอดน้ำตาเทียม
  • กรณีมีอาการคันตาร่วมด้วย ให้ยาลดอาการคันตาไปหยอด (ยากลุ่ม anti-histamine ; ยาออกฤทธิ์ต้านกับสารฮีสตามีนที่ทำให้เกิดอาการคันตา)
  • ไม่ควรใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของ steroid เพราะจะทำให้หายช้าลง
  • กินยาลดไข้ / ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล
  • พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยพักผ่อนให้มาก ๆ, ไม่ควรทำงานดึก ควรนอนให้เพียงพอ, ลดการใช้สายตาในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง
  • ใส่แว่นกันแดด หากมองแสงสว่างไม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบแทรกซ้อน ทำให้มีอาการเคืองตามาก จึงใช้วิธีปิดตาเป็นครั้งคราวเพื่อลดอาการปวดและเคืองตา
  • ไม่จำเป็นต้องล้างตา

3. เนื่องจากโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการสัมผัส จึงควรป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนอื่น เช่น ควรหยุดเรียนหรือไม่ไปว่ายน้ำ จนกว่าตาจะหายแดง
  • ทุกครั้งที่มือสัมผัสโดนตา ควรล้างมือให้สะอาด
  • งดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น

โรคตาแดงจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Conjunctivitis) : ถึงแม้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะไม่ได้รักษา ก็สามารถหายได้เองใน 10-14 วัน (ยกเว้นเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่อาจติดเชื้อเรื้อรังได้หรือลุกลามเร็วจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา) แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการจะหายเร็วขึ้น คือประมาณ 1-3 วัน การรักษาประกอบด้วย
1. การรักษาเฉพาะ : การใช้ยาปฏิชีวนะ หยอดตาทุก 4 ชั่วโมง และป้ายตาก่อนนอน โดยต้องใช้ให้ครบระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ เช่น 7 วัน ไม่ควรใช้แค่ตาหายแดง เพราะอาจทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำของอาการตาแดงได้
2. การรักษาตามอาการ : ปฏิบัติเหมือนโรคตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส
3. เช็ดทำความสะอาดเปลือกตาเพื่อเอาขี้ตาออก เวลาตื่นนอนตอนเช้าหรือเวลาที่มีขี้ตามาก โดยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดเปลือกตา
4. ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค : ปฏิบัติเหมือนโรคตาแดงจากการติดเชื้อไวรัส
โรคตาแดงจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) : การรักษาประกอบด้วย
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
2. ประคบเย็นเวลามีอาการคันตา
3. ยาหยอดตาแก้แพ้ เวลาที่มีอาการคันตา (ยากลุ่ม anti-histamine ; ยาออกฤทธิ์ต้านกับสารฮีสตามีนที่ทำให้เกิดอาการคันตา)
4. ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ตารุนแรง หรือมีอาการภูมิแพ้ที่ระบบอื่นร่วมด้วย เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือภูมิแพ้ผิวหนัง จะได้ผลดีจากการใช้ยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน
5. ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคันตาจากภูมิแพ้บ่อย ทำให้ต้องหยอดยาแก้แพ้บ่อยๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุมอาการภูมิแพ้ร่วมด้วย เพื่อลดอาการกำเริบและลดความถี่ของการหยอดยาแก้แพ้ (ใช้ยากลุ่ม mast cell stabilizer ; ออกฤทธิ์โดยทำให้แมสค์เซลล์ซึ่งเป็นตัวหลั่งสารฮีสตามีนมาทำให้เกิดอาการแพ้ มีความแข็งแรงมากขึ้นเวลาเจอสารก่อภูมิแพ้ จึงหลั่งฮีสตามีนออกมายากขึ้น)
6. ในผู้ป่วยบางครั้งอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้อย่างรุนแรง ไม่ดีขึ้นหลังหยอดยาแก้แพ้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดตาลดการอักเสบกลุ่มสเตอรอยไปหยอดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้นานเกินคำแนะนำของแพทย์หรือซื้อยาชนิดนี้มาหยอดเอง เพราะถ้าใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดโรคต้อหินตามมาได้
นอกจากการรักษาแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำในประชาชนทุกคน คือ การป้องกันไม่ให้เป็นตาแดงจากการติดเชื้อ ซึ่ง
ทำได้โดย
  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคตาแดง
  • ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
  • อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย
  • ดูแลสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน

ในขณะที่โรคตาแดงจากภูมิแพ้ ไม่สามารถป้องกันได้จากวิธีดังกล่าว แต่ทำได้โดยการพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

แหล่งอ้างอิง

  1. http://www.mayoclinic.com/health/pink-eye/DS00258
  2. เอกสารประกอบการสอนเรื่อง ตาแดง. โดยผศ.พญ.สุภาภรณ์ เต็งไตรสรณ์. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  3. http://emedicine.medscape.com/article/797874-overview
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Conjunctivitis


27 พฤษภาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย