ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 708
Small_font Large_font

โรคไข้หวัด (Common cold )

คำจำกัดความ

โรคไข้หวัด คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน (จมูกและคอ) ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต โรคนี้พบได้บ่อยมากในประเทศไทย ประมาณกันว่า ผู้ใหญ่จะป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 2-4 ครั้ง/ปี และเด็กจะป่วยเป็นโรคนี้มากถึง 6-10 ครั้ง/ปี

อาการ

หลังจากที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จะมีอาการดังต่อไปนี้อยู่นานประมาณ 1-3 วัน

  • น้ำมูกไหล : วันแรกมักเป็นน้ำมูกใส ต่อมาอาจเปลี่ยนเป็นสีเขียว/เหลือง และเหนียวมากขึ้น (เกิดจากเม็ดเลือดขาวในร่างกายมาที่ทางเดินหายใจส่วนบนเพื่อมากำจัดเชื้อ โดยไม่ได้บ่งบอกว่าต้องมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนซึ่งต้องกินยาฆ่าเชื้อเสมอไป)
  • จาม
  • คันหรือเจ็บคอ
  • ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ
  • คัดจมูก หายใจไม่สะดวก (เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกบวม)
  • มีขี้ตาเป็นน้ำใสๆ
  • ไข้ต่ำๆ (ไม่เกิน 39๐C)
  • ปวดเมื่อยตามตัว/ปวดศีรษะเล็กน้อย
  • อ่อนเพลียเล็กน้อย

ส่วนใหญ่อาการของโรคมักไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือต้องกินยาทุกราย แค่รักษาประคับประคองก็พอ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ผู้ใหญ่ :
  • ไข้สูง : มากกว่าหรือเท่ากับ 39 ๐C
  • ไข้สูงร่วมกับเพลียมาก
  • ไข้ร่วมกับหนาวสั่น / เหงื่อออก
  • ปวดที่โพรงอากาศบริเวณใบหน้ามาก เช่น กดเจ็บที่โหนกแก้ม / ก้มหน้าแล้วปวดบริเวณศีรษะมาก

เด็ก :
  • ไข้สูง : มากกว่าหรือเท่ากับ 39.5 ๐C หรือหนาวสั่น หรือเหงื่อแตก
  • ไข้เป็นนานติดต่อกันมากกว่า 3 วัน
  • อาเจียนหรือปวดท้อง
  • นอนหลับมากกว่าปกติหรือซึมลง
  • ปวดศีรษะมาก
  • หายใจลำบาก
  • ร้องกวนมากและตลอดเวลา
  • มีอาการปวดหู
  • ไอตลอดเวลา

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนบน โดยเชื้อไวรัสที่สามารถเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้ มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งชนิดที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุด คือ rhinovirus

การติดต่อ : ผู้ป่วยสามารถเป็นโรคนี้ได้ จากการติดเชื้อไวรัสก่อโรค จาก

  • การสัมผัสกับน้ำมูกของผู้เป็นโรคโดยตรง เช่น ถูกผู้เป็นโรคไอ/จามใส่หน้า
  • การสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนบนสิ่งของ เช่น น้ำมูกที่เกิดจากการไอ/จามของผู้เป็นโรค ปนเปื้อนอยู่บนมือและไปแพร่เชื้อที่เครื่องเรือนเครื่องใช้ต่างๆ หรือการใช้ของใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้เป็นโรค
  • จากนั้นผู้ป่วยก็เอามือที่ไปสัมผัสเชื้อโรคนั้น มาสัมผัสกับตา/จมูก/ปากของตนเอง

ทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้หวัดได้เหมือนกัน เพราะมีเชื้อไวรัสอยู่รอบตัวเรามากมาย แต่บุคคลที่มีปัจจัย
ดังต่อไปนี้ มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคหวัดได้บ่อยกว่าบุคคลทั่วไป คือ
  • อายุ : เด็กวัยทารกและวัยก่อนเข้าเรียน

เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ (การติดเชื้อไวรัสแต่ละครั้ง จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้นและไม่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดจากเชื้อไวรัสตัวเดิมอีก ดังนั้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เราจะมีการติดเชื้อไวรัสจำนวนครั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วย ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหลายชนิดมากขึ้น จึงมีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดลดลง จากจำนวนชนิดของเชื้อไวรัสที่เรายังไม่มีภูมิคุ้มกันนั้นลดน้อยลง) และเป็นวัยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของวัน อยู่กับเด็กวัยเดียวกัน (เด็กส่วนใหญ่จะไม่ค่อยระวังในการล้างมือบ่อยๆ หรือใช้มือปิดปาก/จมูกเวลาไอจาม)
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กินยากดภูมิคุ้มกัน , ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือติดเชื้อไวรัส HIV เป็นต้น
  • ฤดูกาล : ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะป่วยเป็นหวัดง่ายขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูฝน / หนาว เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะใช้วลาส่วนใหญ่ในฤดูกาลดังกล่าวอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งเป็นที่แคบและระบายอากาศไม่สะดวก ทำให้มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ง่าย
  • โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรค ทำได้โดย

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกาย : พบมีน้ำมูกใสหรือขาวขุ่น อยู่ภายในจมูก , เยื่อบุจมูกและคอหอยบวมแดง

การวินิจฉัยโรคนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม นอกจากสงสัยว่าผู้ป่วยจะมี
ภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัด ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้และเจ็บคออยู่นานไม่เกิน 1-3 วัน ส่วนอาการคัดจมูกและมีน้ำมูก อาจอยู่นานกว่า แต่มักไม่นานเกิน 7-10 วัน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่สบายมานานกว่า 2 สัปดาห์หรือมีอาการผิดปกติอื่นแทรก ให้สงสัยว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคไข้หวัดธรรมดา แต่กำลังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัด ซึ่งพบได้ดังต่อไปนี้

  • โรคติดเชื้อที่หูชั้นกลาง : เกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินหายใจส่วนบนแพร่ไปยังหูชั้นกลาง (อยู่หลังเยื่อแก้วหู) โดยผ่านทางท่อปรับความดันในช่องหู ทำให้เกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางตามมา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู ร่วมกับมีน้ำสีเหลือง/เขียว ไหลออกมาจากช่องหู , มีไข้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ไข้ลดลงไปแล้วรอบหนึ่ง , ในเด็กที่ไม่สามารถพูดได้ อาจแสดงอาการโดยร้องไห้ งอแง นอนไม่หลับ และอาจมีหรือไม่มีอาการดึงใบหูบ่อยๆ ก็ได้
  • หายใจหอบเหนื่อยจากหลอดลมตีบ : อาการหวัดสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อยได้โดยทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดอยู่เดิมนั้นมีอาการหอบหืดกำเริบได้ ส่วนในกลุ่มที่ไม่เคยเป็นโรคหอบหืดมาก่อนนั้น โรคไข้หวัดก็สามารถกระตุ้นให้เกิดหลอดลมตีบ ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยตามมาได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งมีขนาดของหลอดลมที่เล็กกว่าของผู้ใหญ่
  • โพรงอากาศบริเวณใบหน้าอักเสบติดเชื้อ : ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นอยู่นาน จะทำให้เกิดการบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจและทำให้เกิดการปิดกั้นทางระบายของโพรงอากาศบริเวณใบหน้า ส่งผลให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อของโพรงอากาศบริเวณใบหน้าตามมา
  • มีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียแทรกซ้อน : เกิดได้ทั้งจากการที่เชื้อที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนนั้น แพร่กระจายลงมาติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อตามมา หรือเกิดจากการที่เชื้อไวรัสหวัดทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจผิดปกติจากเกิดการอักเสบ (เป็นแผล) จึงทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตัวอื่นหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้ง่าย

การรักษาและยา

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่การรักษาดังต่อไปนี้ จะช่วยบรรเทาอาการ (ช่วยให้ความรุนแรงของอาการต่างๆ ลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานลดลง ในช่วงที่รอให้โรคหายเอง) , ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

  • การรักษาเฉพาะ : โรคนี้สามารถหายได้เองตามระยะการดำเนินโรค คือ ประมาณ 3-14 วัน ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ (ยาสามารถฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีผลต่อเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรค) เพราะยาฆ่าเชื้อไม่ช่วยให้หายจากโรคและไม่ทำให้อาการของไข้หวัดหายไปเร็วขึ้น ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยรายนั้นมีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  • การรักษาประคับประคอง :
  • ใช้ผ้าสะอาดเช็ดน้ำมูก
  • การลดน้ำมูก : เด็กเล็กใช้น้ำเกลือหยอดจมูกแล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออกทันที จะช่วยให้เด็กกินได้มากขึ้นและนอนหลับได้ดีขึ้น ส่วนในเด็กโตให้สั่งน้ำมูกออกเอง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อชดเชยกับปริมาณน้ำที่เสียไปจากไข้สูงและจากที่นำไปสร้างสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ แต่หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะจะทำให้กระหายน้ำมากขึ้น
  • กินอาหารตามปกติ แต่กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยากอาหาร ไม่ควรบังคับให้ผู้ป่วยกิน เพราะอาจทำให้อาเจียนได้
  • ใช้น้ำเกลือกลั้วคอหรือดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาวบ่อยๆ จะช่วยลดอาการไอได้
  • รักษาร่างกายให้อบอุ่น
  • เช็ดตัวลดไข้
  • การให้ยารักษาตามอาการ :
  • กินยาแก้ปวดและลดไข้ : ส่วนใหญ่ให้กินยา paracetamol ( Tylenol หรือ SARA ) มีข้อควรระวัง คือ อย่าใช้ยาในขนาดสูงเกินไป โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะจะทำให้เกิดการทำงานของตับผิดปกติได้ (ในผู้ใหญ่ปกติ จะให้กินยา paracetamol ประมาณ 1 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมงหรือ 2 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการทำงานของตับผิดปกติ จะต้องลดขนาดของยาลง)

ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ Reye syndrome ได้ (แม้พบได้ไม่บ่อย แต่ถ้าเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว อาจอันตรายถึงตายได้)
  • ยาลดน้ำมูก (ส่วนใหญ่ใช้ยากลุ่ม antihistamine) ไม่มีประโยชน์และยังทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ทำให้น้ำมูกข้นเหนียว จึงกำจัดน้ำมูกออกจากร่างกายยากขึ้น
  • ยาลดอาการคัดจมูก (Decongestant) : กลไก เกิดจากการที่ยาช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก ในผู้ใหญ่มักใช้ในรูปของยากิน แต่ในเด็กเล็กจะใช้ในรูปของยาหยอดจมูก ซึ่งลดอาการได้ดี แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน เพราะจะทำให้เกิดอาการคัดจมูกกลับมาอีกครั้งจากผลของยา (Rhinitis medicamentosa)
  • ยาแก้ไอ ไม่มีประโยชน์ (เพราะการไอเป็นปฎิกิริยาปกติของร่างกายที่จะเอาสิ่งแปลกปลอมและเสมหะในทางเดินหายใจออกจากร่างกาย) จึงไม่ควรใช้ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะทำให้ไอไม่ออก จึงทำให้เสมหะคั่งค้าง จนอาจถึงขั้นอุดตันหลอดลมได้ แต่ในผู้ใหญ่ อาจพิจารณาใช้ในกรณีที่ไอมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ไอจนนอนไม่หลับ
  • การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค:
  • หยุดเรียนหรือหยุดไปทำงาน โดยเฉพาะในกรณีที่ไอมากหรือมีอาการง่วงนอนจากผลข้างเคียงของยาลดน้ำมูก
  • ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรใช้ผ้าปิดจมูกและปากทุกครั้งที่ไอหรือจาม
  • การป้องกันการป่วยเป็นโรคไข้หวัด :
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ (ถ้าไม่มี ใช้แอลกอฮอล์ 70% แทนได้)

รวมทั้ง สอนให้เด็กเห็นความสำคัญของการล้างมือด้วย
  • ทำความสะอาดบ้าน โดยการเช็ดตามโต๊ะต่างๆ ให้สะอาด โดยเฉพาะโต๊ะในห้องครัวและห้องน้ำ
  • ทำความสะอาดของเล่นเด็กทุกครั้งหลังจากที่เด็กเล่นเสร็จ
  • ไอหรือจามลงบนกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งและล้างมือทันที ถ้าไม่มีกระดาษทิชชู่ สามารถใช้ชายแขนเสื้อแทนได้ แต่ไม่ควรใช้มือเปล่าปิดปากและจมูกเวลาไอ/จาม
  • ไม่ควรดื่มน้ำแก้วเดียวกันหรือใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยโรคไข้หวัด
  • ไม่ควรใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นหวัด เช่น อยู่ในห้องแคบๆที่ระบายอากาศได้ไม่ดีด้วยกัน

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Cetirizine, Chlorpheniramine maleate, Paracetamol and Phenylephrine, Dextromethorphan, Fexofenadine, Loratadine, Loratadine and Pseudoephedrine, Paracetamol, epinephrine หยดจมูก, bromhexine

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. นวลจันทร์ ปราบพลและจิตลัดดา ดีโรจนวงศ์. ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก. โรงพิมพ์หนังสือดีวัน. กรุงเทพมหานคร.พิมพ์ครั้งที่2. 2551; 3-11.
  3. Common cold. National Institute of Allergy and Infectious Diseases. http://www3.niaid.nih.gov/topics/commonCold/. Accessed Oct. 15, 2008.
  4. Health matters: The common cold. National Institute of Allergy and Infectious Diseases. http://www.niaid.nih.gov/factsheets/cold.htm. Accessed Oct. 9, 2008.


04 มิถุนายน 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย