ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 787
Small_font Large_font

โรคอีสุกอีใส (Chicken pox, Varicellar Zoster)

คำจำกัดความ

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Varicellar Zoster virus หรือ Human Herpes Zoster type3 โดยผู้ป่วยจะมีอาการของโรคภายหลังรับเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝนเช่นเดียวกับโรคหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี โดยมากพบในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5 – 12 ขวบ รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 1 – 4 ขวบ กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ตามลำดับ มีอาการเป็นผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง และมีไข้

อาการ

เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัด ขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังมีไข้ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใสๆ และคัน ต่อมาอีก 2-3 วันก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มเหล่านี้จะขึ้นตามไรผมก่อนแล้วกระจายไปตามใบหน้าและลำตัว แผ่นหลัง และมีประปรายบริเวณแขนและขา บางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากทำให้ปากและลิ้นเปื่อย ผื่นและตุ่มที่เกิดขึ้นนี้จะค่อยๆขึ้นทีละระลอกไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย โดยบางตำแหน่งจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางตำแหน่งขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ บางตำแหน่งขึ้นเป็นตุ่มกลัดหนอง และบางตำแหน่งเริ่มตกสะเก็ด ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้นเท่านั้น ผื่นจะขึ้นมากที่สุดที่ใบหน้าและลำตัว เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็ก โดยทั่วไปผื่นหายได้โดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน

สาเหตุ

สาเหตุของโรค
โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด
การติดต่อ : โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยระยะเวลาที่ติดต่อกันได้ง่าย มักเป็นช่วง 2 วันก่อนมีตุ่มขึ้น ไปจนถึงหลังมีตุ่มขึ้นแล้ว 4 – 5 วัน การติดต่อเกิดโดย

  • การสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็นโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัด
  • สูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำผ่านเข้าทางเยื่อบุทางเดินหายใจ โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 10-20 วัน
  • หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอีสุกอีใส ก็มีโอกาสติดต่อไปถึงเด็กในครรภ์
  • ในรายที่เป็นงูสวัด สามารถติดต่อในรูปแบบของอีสุกอีใสได้ โดยเฉพาะมารดาที่ให้นมบุตร หากมารดาเป็นงูสวัดบุตรก็จะเป็นอีสุกอีใสได้

การวินิจฉัย

โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายดูลักษณะของผื่นตามตัว ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไปอาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ แต่ก็อาจพบอาการแทรกซ้อนได้ เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา
  • ในบางรายเชื้อแบคทีเรียที่แทรกซ้อนอาจกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษและปอดบวมได้
  • ในผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นได้รับยารักษามะเร็ง หรือ สเตียรอยด์ เชื้ออาจจะกระจายไปยังอวัยวะภายในเช่น สมอง ปอด ตับ เป็นต้น หรือบางรายมีการติดเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสลุกลามไปดวงตาได้ หากเชื้อลุกลามไปยังสมองจะทำให้เกิดอาการความรับรู้สติเสียไป สูญเสียการควบคุมร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ คอแข็ง เป็นต้น

ผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ เป็นกลุ่มที่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาได้ ประกอบด้วย
  • ทารกที่แม่ไม่เคยได้รับวัคซีนโรคอีสุกอีใส หรือ ไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส
  • วัยรุ่น ผู้ใหญ่
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ ได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ที่มีโรคทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ

ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสภายหลังหายจากโรคแล้วเชื้อไวรัสจะไปแฝงตัวอยู่ในเซลล์ประสาท หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลงเชื้อไวรัสเหล่านี้จะออกมาจากเซลล์และเพิ่มจำนวนทำให้มีการติดเชื้อเกิดเป็นโรคงูสวัดซึ่งมีอาการเป็นตุ่มน้ำลักษณะเช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใสแต่จะมีอาการปวดแสบที่ผิวหนังตามตำแหน่งของเส้นประสาท ร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนคือ อาการปวดที่ผิวหนังตามเส้นประสาทภายหลังจากที่ตุ่มน้ำหายไป

การรักษาและยา

เนื่องจากเป็นโรคที่หายเองได้ โดยอาจจะมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยา พาราเซตามอล เพื่อลดไข้ได้ แต่ไม่ควรใช้ แอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ ในรายที่คันมากๆ อาจรับประทานยาแก้คัน เช่น คลอเฟนิรามีน ซึ่งจะช่วยลดอาการคันได้
ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แต่ต้องใช้ในขนาดสูงและราคาแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรก มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือไม่ได้ผลดี

  • การดูแลรักษา โรคอีสุกอีใส : ประกอบด้วย
  1. การดูแลทั่วไป : โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรง โดยปกติแล้วสามารถหายเองได้ อาจจะมีข้อยกเว้น บ้างโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ซึ่งบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงกว่า เช่น เป็นไข้ หรือ มีอาการทางผิวหนัง (แผลมีการติดเชื้อหรือมีอาการคันรุนแรง) หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ประกอบด้วย อาการปอดบวมจากเชื้อไวรัส  ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงนี้ การให้ยาบางชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการคัน การใช้น้ำสะอาดหรือ น้ำเกลือประคบ จะช่วยทำให้รู้สึกสบายตัวขึ้น ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้จำพวกแอสไพริน เพราะอาจ จะทำให้มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมาได้
  2. การรักษาแบบเจาะจง : คือ การใช้ยาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งควรจะให้ในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง หลังมีผื่นขึ้น ซึ่งเชื่อว่าการที่สามารถให้ยาได้ทันและมีปริมาณพอเพียงในช่วงนี้สามารถทำให้การตกสะเก็ดของแผล และ ระยะเวลาของโรคสั้นลง โดยการทำให้แผลตกสะเก็ดเร็วขึ้นโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อหรือแผลที่ลึกมากก็น้อยลง อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ก็มีราคาแพงมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดูและผิวในระยะ ที่มีผื่นอย่างถูกต้อง เช่น ทำความสะอาดแผลให้ปราศจากสิ่งสกปรก

การป้องกันโรคอีสุกอีใส

  • การแยกผู้ป่วย
  • ไม่ใช้ของใช้ปะปนกัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมากๆ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส :
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส นอกจากประโยชน์โดยตรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคอีสุกอีใสแล้วยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก เช่น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็นอันเนื่องมาจากการเป็นโรคอีสุกอีใส ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใสในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และควรรับวัคซีนก่อนอายุครบ 13 ปี สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 13 ปี ต้องรับวัคซีน 2 ชุดในห่างกัน 4 – 8 สัปดาห์

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Cetirizine, Chlorpheniramine, Loratadine, Paracetamol, acyclovir

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. ประยงค์ เวชวนิชสนอง และ วนพร อนันตเสรี. กุมารเวชศาสจร์ทั่วไป. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่1. 2550; 121-132.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Chickenpox.


04 มิถุนายน 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย