ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 4741
Small_font Large_font

เจ็บหน้าอก (chest pain)

คำจำกัดความ

อาการเจ็บหน้าอกเป็นอาการที่ผู้ป่วยบรรยายถึง ความรู้สึกเจ็บ หรือไม่สบายบริเวณหน้าอกหรือใกล้เคียง

สาเหตุ

สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก ได้แก่

  1. สาเหตุจากโรคหัวใจสามารถแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
    • เกิดจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ
    • สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย, เส้นเลือดแดงเอออตาฉีกขาด, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน, โรคลิ้นหัวใจ และ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  2. สาเหตุที่ไม่ใช่โรคหัวใจ ได้แก่ โรคในระบบต่างๆ ดังนี้
    • โรคระบบหายใจ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, ลมในเยื่อหุ้มปวด, ปอดอักเสบ, น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด และ หอบหืด เป็นต้น
    • โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน
    • โรคระบบกล้ามเนื้อและข้อ เช่น กระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกอักเสบ โดยจะมีจุดกดเจ็บชัดเจน บริเวณข้อต่อของกระดูกซี่โครงกับกระดูกอ่อน เป็นต้น
    • โรคระบบผิวหนัง เช่น งูสวัดบริเวณหน้าอก เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกที่มีลักษณะของอาการคล้ายกับโรคหัวใจดังที่ได้กล่าวข้างต้น ควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที ไม่ควรเสียเวลาในการคิดว่าตนเองจะมีอาการเข้าได้กับโรคอื่นๆหรือไม่ และไม่ควรจะขับรถเพื่อเดินทางไปรพ.เอง ยกเว้นไม่สามารถติดต่อรถฉุกเฉินหรือรถฉุกเฉินไม่สามารถมาได้ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ หากอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นขณะขับรถ หรือ อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากโรคหัวใจและอาการรุนแรงมากขึ้น
สำหรับอาการเจ็บหน้าอกลักษณะอื่นๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการประเมิน และรับการรักษา

การวินิจฉัยโรคที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก จะต้องอาศัยการประวัติที่สมบูรณ์ ได้แก่

  • อาการเกิดขึ้นขณะทำอะไร
  • ระยะเวลาที่เป็น
  • ระยะเวลาที่เจ็บหน้าอกแต่ละครั้ง
  • ลักษณะร้าวไปที่ใด
  • ปัจจัยที่ทำให้แย่ลง เช่น ไอ การหายใจ การออกแรงยกของ เป็นต้น
  • ปัจจัยที่ทำให้ดีขึ้น
  • ประวัติอาการร่วม เช่น ใจสั่น เหงื่อออกขณะเจ็บหน้าอก เหนื่อย นอนราบไม่ได้ (บ่งถึงภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย) ไข้ ไอ (แยกภาวะปอดอักเสบ)
  • ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ประวัติโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันใน เลือดผิดปกติ
  • ประวัติอดีตว่าเคยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
  • ประวัติการรักษาที่ผ่านมา

ลักษณะอาการของโรคที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่

  1. อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นทันทีโดยเฉพาะเกิดขณะออกแรง มีลักษณะแน่นเหมือนถูกบีบรัดบริเวณกลางหน้าอก อาจร้าวไปแขนซ้ายด้านใน, คาง, ไหล่ซ้าย ร่วมกับมีอาการใจสั่น, มีเหงื่อออก ให้คิดถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  2. อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นทันทีบริเวณกลางหน้าอก ลักษณะคล้ายถูกแทง อาการเจ็บร้าวไปกลางหลัง, คอ, คาง อาจย้ายตำแหน่งปวดได้ กล่าวคือ เจ็บย้ายบริเวณหน้าอกลงมาบริเวณท้อง เป็นลักษณะของ โรคเส้นเลือดแดงเอออตาฉีกขาด การย้ายที่ปวดเกิดเนื่องจาก ตำแหน่งที่เกิดการแตกเซาะของเส้นเลือดเอออตาซึ่งมักจะเกิดที่บริเวณกลางอก หลังจากนั้นการแตกเซาะจะเคลื่อนที่ไปยังเส้นเลือดเอออตาที่ตำแหน่งในช่องท้อง ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงมาก่อนและควบคุมไม่ได้จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
  3. อาการเจ็บแปลบบริเวณหน้าอก อาจร้าวไปบริเวณกล้ามเนื้อหลัง เจ็บมากขึ้นขณะหายใจลึก และอาการเจ็บน้อยลงหากนั่งก้มตัวไปด้านหน้า บางครั้งอาจเจ็บลักษณะแน่นๆ บ่งถึงโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน
  4. อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจร่วมกับมีไข้ ไอ อาจมีเสมหะหรือไม่ก็ได้ บ่งถึงโรคปอดอักเสบ
  5. อาการเจ็บหน้าอกด้านที่มีรอยโรค เจ็บแปลบบริเวณชายโครง หากหายใจเข้าออกลึกๆ จะทำให้เจ็บมากขึ้น คิดถึง เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือ น้ำในเยื่อหุ้ม
  6. อาการเจ็บหน้าอกขึ้นมาทันที ลักษณะเจ็บแปลบ อาจเป็นมากขึ้นหากหายใจเข้าลึกๆ มีเหนื่อยหอบร่วมด้วย ร่วมกับพบมีอาการปวดที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง บ่งถึง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดปอด
  7. อาการเจ็บแน่นหน้าอกโดยจะมีลักษณะ ตื้อๆแน่นๆ ร่วมกับมีอาการหายใจเหนื่อย หายใจหอบ นอนราบแล้วไอหรือเหนื่อยมากขึ้น กลางคืนต้องตื่นขึ้นมาหอบหลังจากนอนไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง บ่งถึงภาวะหัวใจซีกซ้ายวาย
  8. อาการแน่นหน้าอก เป็นมากในเวลากลางคืน ร่วมกับไอแห้งๆ ตอนอากาศเย็นหรือช่วงกลางคืน โดยมีประวัติมีน้ำมูกเวลาสัมผัสฝุ่นหรืออากาศเย็น หรือ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหอบหืด คิดถึงโรคหอบหืด
  9. อาการเจ็บหน้าอก ลักษณะแบบแสบๆ แปลบๆ หรือคล้ายถูกบีบรัด อาจร้าวไปคางหรือไหล่ โดยอาจเกิดขึ้นมาทันที ก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือไม่สัมพันธ์กับอะไร อาการที่เป็นอาจนานเป็นนาทีหรือชั่วโมง อาจดีขึ้นเองหรือกินยาลดกรด คิดถึงโรคกรดไหลย้อน
  10. อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือบริเวณท้องด้านขวาบน โดยเป็นขึ้นมาทันที ร่วมกับเจ็บแน่นร้าวไปไหล่ขวา อาการเป็นประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วหายไป จะเป็นลักษณะของนิ่วในถุงน้ำดี

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ดังนี้

  1. เอกซ์เรยปอด สามารถวินิจฉัยโรคลมในช่องเยื่อหุ้มปอด, ปอดอักเสบ, น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด และ หัวใจซีกซ้ายวาย
  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  3. ตรวจเลือดดูระดับค่าเอ็นไซม์หัวใจ ซึ่งจะพบใน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  4. อัลตร้าซาวน์ท้อง สามารถวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย

แหล่งอ้างอิง

  1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552.
  2. วิทยา ศรีดามา. ตำราอายุรศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550.
  3. ทวี ศิริวงศ์ บรรณาธิการ. คู่มือเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก.ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พิมพ์ครั้งที่ 2. 2548.


19 กรกฎาคม 2553 24 กุมภาพันธ์ 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย