ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 1256
Small_font Large_font

มะเร็งเต้านม (breast cancer)

คำจำกัดความ

มะเร็งเต้านม (breast cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อเต้านม พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงโดยเฉพาะในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยได้เป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งเต้านมถือเป็นโรคมะเร็งที่ผลการรักษาค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกของโรคซึ่งเป็นช่วงที่มักจะไม่มีอาการ ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือโดยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (หรือ mammogram) จึงมีความสำคัญในการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก

อาการ

ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม สามารถมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการต่างๆ กัน ดังนี้

  • คลำพบก้อนที่เต้านม หรือรู้สึกว่าเต้านมบริเวณนั้นหนาตัวขึ้นแตกต่างจากเต้านมบริเวณอื่น ส่วนใหญ่กดที่ก้อนแล้วไม่ค่อยเจ็บ
  • สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างและขนาดของเต้านม เช่น เต้านมสองข้างขนาดไม่เท่ากัน
  • มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังรอบๆ เต้านม เช่น มีผิวหนังบุ๋มลงไปเป็นจุดคล้ายผิวส้ม, แดงร้อน, เป็นแผลเรื้อรัง
  • หัวนมบุ๋มลงไป โดยเฉพาะเป็นที่เต้านมข้างเดียวหรือเพิ่งมามีอาการตอนอายุมาก
  • พบมีสารคัดหลั่งออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะมีเลือดไหลออกมาจากหัวนม
  • คลำได้ก้อนหรือกดเจ็บที่รักแร้
  • มีอาการของมะเร็งทั่วไป คือ เบื่ออาหารและน้ำหนักลด
  • มาด้วยอาการจากมะเร็งแพร่กระจายไปที่อื่น เช่น มีกระดูกหักจากมะเร็งลามไปกระดูก , ต้นแขนบวม, ต่อมน้ำเหลืองตามตัวโต เป็นต้น
  • มาด้วยไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการถ่ายภาพรังสี mammogram แล้วพบก้อนเนื้อผิดปกติ

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งเต้านม เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม : เชื่อว่าถ้ามีการกลายพันธุ์ของยีน (เช่น ยีน BRCA1 หรือ BRCA2) สามารถทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ และการกลายพันธุ์นี้ก็สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ทำให้คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าบุคคลทั่วไป
2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม : เช่น การรับประทานอาหารประเภทไขมันปริมาณสูงจะสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม

จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าบุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ จะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น

  • ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปี โดยจะมีโอกาสพบมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้นและจะพบมากที่สุดที่ช่วงอายุ 40-50 ปี
  • รูปร่างอ้วน
  • ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
  • ผู้่หญิงที่เคยเป็นเนื้องอกที่เต้านมมาก่อน ทั้งเนื้อดีและมะเร็งเต้านม
  • ผู้หญิงที่มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยมีบุตร หรือไม่เคยให้นมบุตร
  • ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาเร็ว (ตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี) หรือประจำเดือนหมดช้า (หมดหลังอายุ 55 ปี)
  • ผู้หญิงที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง คือ ใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 10 ปี หรือใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน ติดต่อกันนานกว่า 5 ปี
  • การสูบบุหรี่
  • เคยได้รับการฉายรังสีใกล้ๆ กับบริเวณเต้านมมาก่อน

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย : แพทย์จะทำการตรวจร่างกายผู้ป่วย คือ

  • ตรวจเต้านม : ดูผิวหนังบริเวณเต้านมว่ามีความผิดปกติหรือไม่ (เช่น ผิวหนังบุ๋มลงไปเป็นจุดคล้ายผิวส้ม, เป็นแผล, มีหัวนมบุ๋มหรือไม่) , คลำบริเวณเต้านมว่ามีก้อนหรือไม่, กดบริเวณลานหัวนมว่ามีสารคัดหลั่งออกมาจากหัวนมหรือไม่
  • ตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ทั้งสองข้างและบริเวณคอ เพื่อดูว่ามีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ทำได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของผู้ป่วยแต่ละราย ประกอบด้วย
1. การตรวจทางรังสีวินิจฉัย : ประกอบด้วย

  • การตรวจเอ็กซเรย์เต้านม หรือ mammogram : ทำโดยการวางเต้านมเข้ากับแป้นและถ่ายเอกซเรย์ ในปัจจุบันใช้เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอายะ 35 ปีขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการ
  • การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง หรือ ultrasound : มักทำในกรณีที่คลำได้ก้อนแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้องอกหรือเป็นแค่ถุงน้ำ หรือตรวจในผู้หญิงที่มาด้วยอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านมแต่อายุน้อยกว่า 35 ปี (เป็นช่วงที่เนื้อเต้านมแน่น ทำให้มองเห็นเนื้องอกได้ไม่ดีจาก mammogram) แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถมองเห็นก้อนที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้ไม่ค่อยได้ประโยชน์ในการใช้ตรวจคัดกรอง
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

2. การนำชิ้นเนื้อบริเวณก้อนมาส่งตรวจชิ้นเนื้อ : ทำในกรณีที่คลำพบก้อนบริเวณเต้านมชัดเจน การน้ำชิ้นเนื้อบริเวณนั้นมาตรวจจะทำให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน โดยการนำชิ้นเนื้อมาตรวจทำได้ทั้งการใช้เข็มเจาะเอาเนื้อบางส่วนของเต้านมมาตรวจ (ในกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่) หรือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกมาตรวจทั้งชิ้นเลย (กรณีที่ก้อนมีขนาดเล็ก)

ภาวะแทรกซ้อน

1. ภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรค : มักเกิดจากการที่มะเร็งแพร๋กระจายไปยังที่ต่างๆ เช่น

  • มะเร็งแพร่กระจายไปที่สมอง : อาจมีอาการปวดศีรษะ, แขนขาอ่อนแรง, ซึม เป็นต้น
  • มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอด : ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะถ้ามีภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด อาจทำให้มีความจำเป็นต้องเจาะเพื่อระบายน้ำออกจากช่องเยื่อหุ้มปอดบ่อยๆ เพื่อให้หายเหนื่อย
  • มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก : ทำให้มีอาการปวดที่บริเวณกระดูกนั้นค่อนข้างมาก

เป็นต้น

2. ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา :

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด : ส่วนใหญ่จะมีผลต่อความสวยงาม คือ ผู้ป่วยอาจเหลือเต้านมแค่ข้างเดียว
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยาเคมีบำบัด : ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน, ผมร่วง, ติดเชื้อได้ง่ายจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสี : เช่น เบื่ออาหาร, การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี เช่น ผิวหนังมีลักษณะบวม/ แดง/ แห้ง/ เป็นขุย/อาจลอกหรือตกสะเก็ดได้

การรักษาและยา

การรักษามะเร็งเต้านมเป็นการรักษาผสมผสานกันระหว่างการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาตามแต่ละชนิดของมะเร็งและความรุนแรงของมะเร็งเต้านม
1. การรักษาด้วยการผ่าตัด : ที่ใช้ในทางปฏิบัติ มี 2 วิธี คือ

  • การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน หมายถึง การตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีที่หุ้มรอบก้อนมะเร็งออกด้วย ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก
  • การตัดเต้านมออกโดยวิธีมาตรฐาน คือ การตัดเนื้อเต้านมทั้งหมดออก ร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก

หลังผ่าตัดผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาเสริมตาม เพื่อให้มีโอกาสหายขาดสูงสุด
2. การรักษาเสริม : ประกอบด้วยการฉายรังสีรักษา, การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ฮอร์โมนรักษา

แหล่งอ้างอิง

1. ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546, 282-292.
2. Seymour I. Schwartz, M.D., editir. Principles of surgery. Seventh edition.1999, 533-600.
3. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 563-569.



27 พฤษภาคม 2553 08 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย