ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 4667
Small_font Large_font

เนื้องอกในสมอง (Brain tumor)

คำจำกัดความ

ก้อนในสมอง (Brain tumor) : คือ การเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ จนเกิดเป็นก้อนขึ้นในสมอง

ก้อนในสมองแบ่งได้หลายแบบ คือ
ถ้าแบ่งตามชนิดของเซลล์ในก้อน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • 1. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign brain tumor) : คือก้อนที่ประกอบด้วยเซลล์ปกติ ไม่มีเซลล์มะเร็ง มีลักษณะคือ เห็นขอบเขตของก้อนชัดเจน ตัวก้อนไม่ลุกลามอวัยวะข้างเคียงและไม่แพร่กระจายไปที่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย แต่ตัวก้อนสามารถกดเบียดเนื้อสมองที่อยู่ข้างๆ จนทำให้เกิดอาการแสดงผิดปกติได้ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่อวัยวะอื่นมักไม่อันตราย คือ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตและไม่กลายเป็นมะเร็ง ไม่ต้องรักษาอะไร สามารถติดตามอาการได้ แต่เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่สมองแตกต่างจากอวัยวะอื่น คือ บางครั้งสามารถทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ทำให้สมองบวมและกดก้านสมองได้ และมีผู้ป่วยบางรายที่ก้อนสามารถกลายเป็นมะเร็งได้ แต่พบได้น้อย
  • 2. เนื้องอกชนิดร้ายแรง (Malignant brain tumor) : คือ เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็ง (เป็นเซลล์ที่เจริญผิดปกติ คือ เจริญเติบโตเรื่อยๆ และไปตายในเวลาที่ควรจะเป็น) ถือเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ มีลักษณะคือ ตัวก้อนมะเร็งจะขยายขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว , เซลล์มะเร็งสามารถลุกลามไปที่เนื้อสมองส่วนที่ดีที่อยู่รอบๆ ได้ รวมทั้งสามารถแพร่กระจายไปที่สมองส่วนอื่นและอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้ (metastasis)

ถ้าแบ่งตามสาเหตุ แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  • 1. เนื้องอกในสมองที่เกิดขึ้นในสมองตั้งแต่แรก (primary brain tumors) : ก้อนเนื้อมีต้อนกำเนิดของเซลล์มาจากเนื้อเยื่อของสมองเอง แบ่งได้เป็นกลุ่มย่อยได้หลายชนิดและมีชื่อเรียกตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิด เช่น Acoustic neuroma (schwannoma), Astrocytoma (glioma) , Ependymoma, Ependymoblastoma, Medulloblastoma, Meningioma, Neuroblastoma, Oligodendroglioma, Pineoblastoma เป็นต้น
  • 2. เนื้องอกในสมองที่แพร่กระจายมาจากมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกาย (secondary/metastatic brain tumors) : เป็นก้อนมะเร็งที่เกิดจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นของร่างกาย แล้วแพร่กระจายมาที่สมอง กลุ่มนี้พบได้บ่อยกว่าเนื้องอกในสมองที่เกิดขึ้นในสมองตั้งแต่แรก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีประวัติของมะเร็งในตำแหน่งอื่นนำมาก่อนที่จะมีอาการทางสมอง แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจมาด้วยอาการของมะเร็งในสมองก่อนแล้วจึงตรวจพบว่าเป็นการแพร่กระจายมาจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น มะเร็งที่ชอบแพร่กระจายมาที่สมอง เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม

อาการ

อาการและอาการแสดงของเนื้องอกในสมอง เกิดจากก้อนเนื้อไปกดเนื้อสมองที่อยู่ข้างเคียงหรือไปทำลายเส้นประสาทสมองที่อยู่ข้างเคียง

อาการของผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง มีได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก, ตำแหน่งของก้อนเนื้อและอัตราการโตของเนื้องอก

อาการและอาการแสดงโดยทั่วไปประกอบด้วย

  • มีอาการปวดศีรษะ : มีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหรือในรายที่มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อยอยู่ก่อน เช่น ไมเกรน จะมีอาการปวดศีรษะที่เปลี่ยนไปจากเดิมในทางที่อาการรุนแรงมากขึ้น
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • มีปัญหาทางสายตา เช่น ตามัว, เห็นภาพซ้อนหรือมองไม่เห็น
  • มีปัญหาในการพูด
  • มีปัญหาในการได้ยิน
  • ชาตามปลายมือปลายเท้า
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ทรงตัวลำบาก
  • บุคลิกภาพหรือนิสัยเปลี่ยนไป
  • ชัก ในคนที่ไม่เคยมีประวัติชักมาก่อน

สาเหตุ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของเนื้องอกในสมอง แต่ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ เพราะเกิดจากเซลล์ในสมองแบ่งตัวและเจริญเติบโตผิดปกติ จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ จะมีโอกาสป่วยเป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองตั้งแต่แรก (primary brain tumors) ได้มากกว่าคนทั่วไป (แต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้องอกในสมองทุกราย ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกในสมองทุกคนก็อาจไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว)

  • เพศ : เนื้องอกในสมองส่วนใหญ่พบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิง
  • เชื้อชาติ : เนื้องอกในสมองพบในคนผิวขาวได้มากกว่าชนชาติอื่น
  • อายุ : ส่วนใหญ่ของเนื้องอกในสมอง พบใน 2 ช่วงอายุ คือ อายุมากกว่า 70 ปี และเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี
  • ประวัติครอบครัว : ในคนที่มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะชนิด gliomas จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป
  • มีประวัติได้รับรังสีหรือสารเคมีบางชนิดจากการทำงาน เช่น สาร Formaldehyde ในคนที่ทำอาชีพตรวจชิ้นเนื้อ, Vinylchloride ในโรงงานผลิตพลาสติก
  • มีประวัติได้รับรังสีมาก่อน เช่น คนงานในโรงงานนิวเคลียร์

จากความรู้ในปัจจุบัน ไม่พบว่าการใช้โทรศัพท์มือถืมหรือการได้รับอุบัติเหตุกระทบกระแทกบริเวณศีรษะ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในสมอง

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย :

  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท : ประกอบด้วยตรวจระดับความรู้สึกตัว, ตรวจดูการมองเห็น, การได้ยิน, การทรงตัว, กำลังของกล้ามเนื้อแขนขาและรีเฟลกซ์ของร่างกาย

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ :ถ้าหากสงสัยว่าเป็นผู้ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีทดสอบ ดังต่อไปนี้

  • 1.การตรวจทางรังสีวินิจฉัยเพื่อยืนยันว่ามีเนื้องอกในสมอง (Imaging tests) : ประกอบด้วย
  • 1.1 เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT brain) : ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดดำและถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูเนื้อสมอง จะทำให้เห็นเนื้อสมองและเนื้องอกได้ชัดขึ้น
  • 1.2 การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI brain) : อาจฉีดสีหรือไม่ฉีดสีก็ได้ ภาพที่ได้จะแสดงให้เห็นเนื้องอกในสมองและพยาธิสภาพอื่นๆ ในสมอง

  • 2. การตัดชิ้นเนื้อมาตรวจดู (Biopsy) : สามารถทำเมื่อมีการผ่าตัดเอาเนื้องอกในสมองออกหรืออาจใช้เข็มดูดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากตัวก้อนออกมาบางส่วน แล้วนำชิ้นเนื้อนั้นมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่าเป็นเนื้องอกที่ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป แต่บางครั้งไม่สามารถทำได้ เช่น ก้อนอยู่ลึกมากหรือก้อนอยู่ใกล้เส้นเลือดใหญ่ในสมอง เป็นต้น
  • 3. การทดสอบเพื่อค้นหามะเร็งในส่วนอื่นของร่างกาย : ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเนื้องอกในสมองเกิดจากมะเร็งแพร่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ใช้ภาพรังสีเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อค้นหามะเร็งปอด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

เนื้องอกในสมองสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ขึ้นหลายอย่าง

  • อาการที่เกิดจากก้อนเนื้อกดเบียดสมองปกติที่อยู่ใกล้เคียง : อาการมีได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับส่วนของสมองที่โดนผลกระทบ เช่น แขนขาอ่อน, การมองเห็นหรือการได้ยินหรือการพูดผิดปกติ, ชัก เป็นต้น

  • อาการที่เกิดจากมีก้อนในสมอง ทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ (มักปวดตลอดเวลา แต่ปวดรุนแรงมากในตอนเช้าและอาการปวดดีขึ้นหลังจากอาเจียน) , อาเจียนมากโดยเฉพาะไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน, ถ้าความดันในสมองเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้ก้านสมองถูกกด (เป็นสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสัญญาณชีพของร่างกาย) ทำให้ผู้ป่วยเสียชิวิตได้

การรักษาและยา

แพทย์มักจะส่งต่อผู้ป่วยไปให้แพทย์เฉพาะทางดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น ศัลยกรรมระบบประสาทหรืออายุรแพทย์โรคมะเร็ง

วิธีการรักษาโรคเนื้องอกในสมองมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก, ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก, ระยะของโรคในกรณีของมะเร็ง ว่าโรคแพร่กระจายไปที่ไหนแล้วบ้าง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของตัวผู้ป่วยเอง

วิธีการรักษา ประกอบด้วย
1. การรักษาเนื้องอก : มีหลายวิธี แพทย์อาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในต่อไปนี้ หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน

  • 1.1 การผ่าตัด : เป็นวิธีการรักษาที่ใช้บ่อยถ้าทำได้ เพราะเป็นการนำเอาก้อนเนื้อออกจากสมอง ทำให้ลดอาการของผู้ป่วยได้ดีและเพิ่มโอกาสหายขาดจากโรค โดยจะทำเมื่อเนื้องอกในสมองอยู่ในตำแหน่งที่การผ่าตัดสามารถเข้าได้ถึงได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อสมองบริเวณที่ไวต่อการถูกกระทบ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาโดยการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ, การเสียเลือดและทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองบริเวณใกล้เคียง

  • 1.2 การฉายรังสี : เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูงไปทำลายเซลล์มะเร็ง อาจเป็นการฉายรังสีจากภายนอกหรือใส่เครื่องปล่อยรังสีข้าไปในร่างกายบริเวณที่ใกล้กับสมอง การฉายรังสีอาจฉายเฉพาะตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนสมองเพื่อฆ่าเนื้องอกบริเวณนั้นหรืออาจฉายรังสีไปทั่วสมองในกรณีที่เนื้องอกมีหลายตำแหน่งในสมองและเป็นเนื้องอกกลุ่มที่เกิดจากการแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นเข้าสู่สมอง ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของรังสีที่ได้รับ โดยทั่วไปทำให้เกิดอาการล้า, ปวดศีรษะหรือมีการระคายเคืองต่อกะโหลกศีรษะ
  • 1.3 Radiosurgery : เป็นการฉายรังสีจากหลายๆ แหล่งเข้าไปโฟกัสที่จุดเล็กๆ จุดเดียวในสมอง โดยแต่ละลำแสงจะมีพลังงานไม่มากแต่เมื่อไปรวมกันที่จุดเดียวก็สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ถือเป็นทางเลือกสำหรับเนื้องอกในสมองที่ไม่สามารถผ่าตัดออกด้วยวิธีปกติทั่วไปได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียว อาการข้างเคียงได้แก่ อาการล้า, ปวดศีรษะและคลื่นไส้
  • 1.4 ยาเคมีบำบัด : เป็นการกินหรือฉีดยาเคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง เป็นการรักษาแบบทั่วร่างกาย มีผลต่อเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งอย่างเดียว ทำให้มีผลข้างเคียงได้มาก โดยอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยาที่ได้รับ ที่พบบ่อยๆ คือ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและผมร่วง
  • 1.5 Targeted drug therapy : เป็นการโฟกัสไปที่ความผิดปกติที่จำเพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นในเซลล์ที่ผิดปกติ เมื่อเราปิดกั้นความผิดปกติพวกนี้ก็จะทำให้เซลล์ที่ผิดปกติตาย จึงไม่มีเซลล์ที่ผิดปกติอีก ยาส่วนใหญ่ค่อนข้างใหม่และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัย ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาเนื้องอกในสมอง คือ bevacizumab ยาตัวนี้ให้ทางหลอดเลือดดำเพื่อไปหยุดการสร้างเส้นเลือด ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงเนื้องอก ส่งผลให้ทำให้เซลล์มะเร็งตาย

2. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ควบคุมอาการต่างๆ ในผู้ป่วยมะเร็. โดยเฉพาะอาการปวดจากมะเร็ง รวมทั้งรักษาอาการข้างเคียงจากยารักษาโรค เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องผูกจากยามอร์ฟีนที่ใช้รักษามะเร็ง

3. การฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย (Rehabilitation) : เนื่องจากเนื้องอกในสมองสามารถกดเบียดเนื้อสมองปกติที่อยู่ข้างๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงจากสมองส่วนที่ถูกกดนั้นทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูการทำงานของสมองส่วนนั้น ร่วมไปกับการรักษาเนื้องอกและภายหลังจากรักษาเนื้องอกหายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

1. H.Richard Winn. Neurological surgery. Fifth edition. 2004, 44-62.



27 พฤษภาคม 2553 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย