ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 17
Small_font Large_font

ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia)

คำจำกัดความ

ต่อมลูกหมาก (prostate gland) เป็นโรงงานผลิตน้ำอสุจิของผู้ชาย มีหน้าที่ในการสร้างน้ำเมือกหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ตำแหน่งของต่อมลูกหมากคือ อยู่ที่ส่วนคอของกระเพาะปัสสาวะ โดยจะห่อหุ้มรอบท่อทางเดินปัสสาวะส่วนต้นไว้
โรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia, BPH) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเพศชายวัยสูงอายุ เกิดจากต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้นตามอายุ จากเซลล์ที่แบ่งตัวมากขึ้น ถือเป็นภาวะที่พบได้ปกติในผู้ชายที่อายุมากขึ้น แต่ต่อมลูกหมากที่โตขึ้นในระยะแรกจะยังไม่ทำให้เกิดอาการ แต่ต่อมาเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นถึงระยะหนึ่งจะไปกดท่อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะลำบาก และถ้ายังไม่รักษา ต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนกดเบียดท่อทางเดินปัสสาวะอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ปัสสาวะระบายออกจากกระเพาะปัสสาวะไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ต่อมลูกหมากโตเป็นเพียงการมีเซลล์ที่ต่อมลูกหมากจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นระยะเริ่มต้นของมะเร็งต่อมลูกหมาก (ไม่ใช่ precancerous lesion)

อาการ

ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตแต่ละรายมีความรุนแรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก แต่อาการของโรคมีแนวโน้มจะแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปตามขนาดของต่อมลูกหมากที่โตมากขึ้น
อาการของโรตต่อมลูกหมากโต ประกอบด้วย

  • ปัสสาวะลำบากตอนเริ่มต้น ต้องใช้แรงในการเบ่งปัสสาวะมากขึ้น
  • ปัสสาวะพุ่งไม่แรงเหมือนเดิม
  • ปัสสาวะสะดุดขณะปัสสาวะ
  • กว่าจะปัสสาวะเสร็จ ต้องใช้เวลานานขึ้น
  • มีปัสสาวะหยดตามหลังปัสสาวะเสร็จ จนเปื้อนปนกางเกงใน
  • รู้สึกปัสสาวะไม่สุด หลังปัสสาวะเสร็จแล้วยังรู้สึกปวดปัสสาวะอยู่
  • รู้สึกต้องการปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • รู้สึกกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • มีปัญญาเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ : เพราะท่อทางเดินปัสสาวะกับท่อทางเดินของน้ำอสุจิเป็นท่อเดียวกัน เมื่อมีปัญหาปัสสาวะลำบาก อาจทำให้มีการหลั่งน้ำอสุจิไม่ปกติด้วย
  • มีอาการจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่อมลูกหมากโต

สาเหตุ

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคต่อมลูกหมากโต แต่เชื่อว่าเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายในต่อมลูกหมากเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น คือ จะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนในต่อมลูกหมากมากขึ้น จึงกระตุ้นให้เซลล์ในต่อมลูกหมากแบ่งตัวมากขึ้น (hyperplasia) ส่งผลให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้น

การวินิจฉัย

  1. ประวัติ :
– ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังที่กล่าวมาแล้ว – แพทย์จะถามเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีอาการแสดงจากต่อมลูกหมากโต เช่น ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย, ยาที่รับประทานเป็นประจำ เป็นต้น
  1. การตรวจร่างกาย : แพทย์จะทำการตรวจโดยสอดนิ้วชี้เข้าทางทวารหนักของผู้ป่วย (Digital rectal exam) เพื่อประเมินขนาดของต่อมลูกหมากและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก (ถ้าต่อมลูกหมากที่โตมีลักษณะแข็งมาก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก)
  2. การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ :
    • ตรวจปัสสาวะ (UA) : เพื่อตรวจว่ามีปัญหาอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโตหรือไม่ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
    • ตรวจวัดระดับสารที่สร้างมาจากต่อมลูกหมาก (Prostate-specific antigen, PSA) ในเลือด ถ้าต่อมลูกหมากโตจะพบระดับของ PSA ในเลือดสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าสูงขึ้นมาก ต้องระวังว่าอาจเกิดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, หลังการผ่าตัดที่กระทบกระเทือนบริเวณต่อมลูกหมาก หรือต่อมลูกหมากติดเชื้อ
    • ทดสอบการไหลของปัสสาวะ (Urine flow test) : เพื่อดูความแรงและปริมาณของน้ำปัสสาวะ เพื่อใช้ติดตามการรักษาว่าโรคดีขึ้นหรือแย่ลง
    • ทดสอบปริมาณปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากถ่ายปัสสาวะเสร็จ (Postvoid residual volume test) : วัดโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์หรือใช้สายสวนปัสสาวะสวนดูปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากที่ผู้ป่วยปัสสาวะเสร็จ เพื่อดูว่าต่อมลูกหมากโตจนทำให้เกิดการปิดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะหรือยัง
    • อัลตร้าซาวด์ผ่านทวารหนัก (Transrectal ultrasound) เพื่อดูขนาดและรูปร่างของต่อมลูกหมาก
    • ตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Prostate biopsy) เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคต่อมลูกหมากโต เกิดจากการที่ต่อมลูกหมากโตมากจนปิดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จึงส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ประกอบด้วย

  • ปัสสาวะไม่ได้เลย (urinary retention) : ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้องน้อยอย่างมาก จากกระเพาะปัสสาวะเต็มไปด้วยปัสสาวะจนตึง หลังจากปัสสาวะไม่ได้มานานมากกว่า 6-8 ชั่วโมง
  • ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ : เกิดจากผู้ป่วยปัสสาวะไม่สุดนานๆ จึงมีเชื้อแบคทีเรียคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะตามมา
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะเสียหาย : เกิดจากปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานๆ จนกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบไล่ปัสสาวะได้ตามปกติ
  • ไตเสียหาย

การรักษาและยา

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ประกอบด้วย
1. การรักษาด้วยยา : ในปัจจุบันมียา 2 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต คือ 1.1 ยากลุ่ม Alpha blockers : เป็นยาที่ออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่ท่อทางเดินปัสสาวะและทางออกของกระเพาะปัสสาวะคลายตัว ทำให้ปัสสาวะไหลออกมาได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้คือ doxazosin, terazosin, alfuzosin , tamsulosin และ silodosin ยาทั้ง 5 ตัวมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของผลข้างเคียงจากยา โดยผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย คือ อาการเวียนศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า, คัดจมูกและกล้ามเนื้ออ่อนแรง 1.2 ยากลุ่ม 5α-reductase inhibitors : เป็นยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ยับยั้งเอนไซม์ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย ทำให้มีความเข้มข้นของฮอร์โมนเพศชายในต่อมลูกหมากลดลง ต่อมลูกหมากจึงมีขนาดเล็กลง ยากลุ่มนี้กว่าจะเห็นผลของการรักษา ใช้เวลานานกว่ายากลุ่ม Alpha blockers แต่ผลการยาอยู่ได้นานกว่า ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ คือ finasteride และ dutasteride ผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย คือ ความต้องการทางเพศลดลงและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
2. การรักษาโดยการผ่าตัด transurethral resection of prostate (TURP) : ทำในกรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ยาเต็มที่ การผ่าตัดทำได้โดยการส่องกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะและเข้าไปตัดต่อมลูกหมากบางส่วนออก เพื่อลดขนาดของต่อมลูกหมากลง ส่งผลให้อาการปัสสาวะลำบากของผู้ป่วยดีขึ้น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย doxazosin, finasteride



27 พฤษภาคม 2553 16 ธันวาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย