ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2660
Small_font Large_font

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

คำจำกัดความ

เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น โดยในเด็กพบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 9-17 สาเหตุเกิดมาจากปัจจัยภายในร่างกายของเราเอง ที่มีภูมิไวมากเกินไปต่อการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ และสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยไม่ได้เป็นโรคติดต่อ, ไม่ใช่โรคติดเชื้อและไม่ได้เกิดจากความสกปรก อาการมักจะเป็นๆหายๆ มีทั้งช่วงที่โรคเห่อ ซึ่งจะมีผื่นที่ผิวหนังและมีอาการคันมาก สลับกับช่วงที่โรคสงบ อาการผิวหนังอักเสบนี้จะเป็นเรื้อรัง และโรคนี้จะดีขึ้นเองเมื่ออายุมากขึ้น (พบว่า ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้นเมื่อเด็กอายุ 10 ปี) ดังนั้นผู้ปกครองไม่ควรวิตกกังวลมากนัก

ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวมักจะมีอาการภูมิแพ้ที่ระบบอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วย เช่น โรคหอบหืด, เยื่อบุจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้, เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น

อาการ

ผิวหนังโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคนี้ จะค่อนข้างแห้งหรือแห้งมาก และมีอาการคันเป็นอย่างมากและคันเรื้อรัง โดยอาการคันในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงมากจนอาจรบกวนการนอนหลับ
ลักษณะของผื่นและตำแหน่งที่มีผื่น มีได้ 2 แบบ ตามกลุ่มอายุของผู้ป่วย คือ

  1. ในเด็กเล็ก (2 เดือนถึง 2 ปี) : มักจะพบผิวหนังอักเสบในระยะเฉียบพลัน (จะมีรอยโรคเห่อแดงคัน อาจมีตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ มีน้ำเหลืองเยิ้มซึม) และระยะรองเฉียบพลัน (มีขุยแห้งหรือสะเก็ด) เป็นส่วนใญ่ และผื่นมักพบที่บริเวณใบหน้าและลำคอ รวมทั้งในเด็กวัยเริ่มคลาน จะพบผื่นที่บริเวณด้านนอกของแขนขาได้ ดังรูป

  1. ในเด็กโต (2-12 ปี) และผู้ใหญ่ : มักจะพบผิวหนังอักเสบเกิดในระยะเรื้อรัง (เป็นปื้นนูนหนา จากการถูหรือเกา, สีคล้ำ, คัน, มีขุย และมีรอยเกา) มักพบที่บริเวณซอกพับของร่างกาย คือ ซอกคอ, ข้อพับ, แขนและขา ดังรูป

สาเหตุ

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจาก
1. ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดให้คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น : จะสังเกตว่าบิดาหรือ มารดา หรือทั้งสองคนของผู้ป่วย อาจมีประวัติโรคภูมิแพ้ทั้งที่มีอาการแสดงออกทางผิวหนัง หรือระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ภูมิแพ้อากาศ,เยื่อบุตาอักเสบ หรือหอบหืดร่วมด้วย ดังนั้นถ้าทั้งบิดาและมารดาทั้งคู่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกจะเกิดผื่นผิวหนังภูมิแพ้ จะมีมากกว่าคนที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งที่เป็นโรคและมากกว่าคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวเลย
2. มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบขึ้น : ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่

  • การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศแห้งหรือร้อนจัด, อากาศเย็นจัด เป็นต้น
  • สัมผัสกับสารระคายเคืองผิวหนัง เช่น สบู่, ผงซักผอก, ยาทาบางชนิด เช่น ผู้ป่วยบางรายใช้แอลกอฮอล์, น้ำยาฆ่าเชื้อโรค, น้ำยาล้างแผล, ยาหม่อง, ทิงเจอร์ เป็นต้น ไปทาหรือถูบริเวณที่เป็นผื่นคัน เพราะคิดว่าเป็นความสกปรกหรือเกิดจากการติดเชื้อ แต่สุดท้ายกลับทำให้ผื่นเห่อและลามมากขึ้น เพราะสารเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังมากขึ้น
  • สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้, ขนสัตว์, ไรฝุ่น, อาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ ถั่ว อาหารทะเล อาหารทอด สามารถทำให้ผื่นเห่อขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย แต่ไม่ได้เป็นทุกราย ดังนั้นในเด็กทารก ควรส่งเสริมให้ดื่มนมมารดามากกว่านมวัว
  • การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล, ความเครียด
  • มีการติดเชื้อของร่างกาย : เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ซึ่งพบบ่อยๆ ตามหลังการเกาและนำเชื้อโรคไปที่ผิวหนัง

ปัจจัยดังกล่าว อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ที่สิ่งสำคัญมากในผู้ป่วยเกือบทุกรายที่มีส่วนทำให้ผื่นเห่อขึ้นได้มากๆ จนบางครั้งลามออกไปทั่วๆ ตัว ก็คือ “การเกา” เพราะโรคนี้เป็นโรคซึ่งมีอาการคันเป็นอาการเด่น ดังนั้นการเกาจึงทำให้โรคลามและเห่อมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การวินิจฉัย

ประวัติ

  • ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการคันที่ผิวหนัง และมีผื่นต่างๆ ที่จำเพาะกับโรคนี้
  • ถ้าได้ประวัติเรื่องภูมิแพ้ชนิดอื่นในตัวผู้ป่วยเองหรือบุคคลอื่นในครอบครัว จะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้

ตรวจร่างกาย
  • พบผื่นที่มีลักษณะและตำแหน่งที่เข้าได้กับโรคนี้
  • เมื่อใช้ของแหลมขูดบนผิวหนังปกติ จะเกิดเป็นทางสีขาวขึ้น (ในคนปกติจะเกิดเป็นเส้นสีแดง) เรียกว่า white dermographism

ภาวะแทรกซ้อน

  1. บางรายมีอาการคันรุนแรงมาก จนอาจรบกวนชีวิตประจำวันหรือการนอนหลับได้
  2. เนื่องจากผื่นผิวหนังอักเสบนี้มีอาการคันมาก การเกาของผู้ป่วยจะทำลายผิวหนังปกติซึ่งเป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคของร่างกาย ทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย จะเห็นผื่นมีลักษณะบวมแดงมากขึ้น, มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรือกลายเป็นตุ่มหนองได้
  3. ผู้ป่วยโรคนี้จะมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังบางชนิดได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น การมีผิวหนังใต้ตาคล้ำ, กลากน้ำนม เป็นต้น

การรักษาและยา

การรักษาโรคนี้ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งต้องทำร่วมกันเสมอ คือ
1. การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และตัวกระตุ้นให้ผื่นกำเริบ : เป็นหลักการสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เพราะจะทำให้ผื่นดีขึ้น, สามารถควบคุมอาการได้และป้องกันการกำเริบของผื่น สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยคือ นมวัว, ไข่ขาว, ถั่ว, ไรฝุ่น, ขนสัตว์ เป็นต้น
2. การดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค : ประกอบด้วย – หลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคือง เช่น อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง, ไม่ควรใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นเกินไป, ใช้สบู่อ่อนฟอกเฉพาะรักแร้ ขาหนีบ และคอ ที่เหลือล้างด้วยน้ำสะอาด

  • หลังอาบน้ำ ควรปล่อยให้ผิวหนังแห้งเองหรือใช้ผ้าขนหนูซับเบาๆ ไม่ขัดหรือถู
  • ควรเลือกใช้ผ้าเนื้อโปร่ง เช่น ผ้าฝ้าย ไม่ควรใช้ผ้าขนสัตว์หรือหนานุ่ม เนื้อหยาบ
  • การซักล้างเสื้อผ้า : ควรซักล้างผงซักฟอก หรือ น้ำยาปรับผ้านุ่มออกให้สะอาดก่อนใส่
  • ควรจะตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกาที่รุนแรง
  • อุณหภูมิรอบตัวควรพอเหมาะ ไม่ควรร้อนหรือหนาวไป
  • เวลานอนควรเปิดแอร์ เพราะเหงื่อจะระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ลดการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ เช่น ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
  • บริเวณที่ผิวหนังแห้ง ควรใช้ครีมหรือวาสลีนให้ความชุ่มชื้นทาหลังอาบน้ำภายใน 3 นาที จะช่วยลดการกำเริบของโรคได้ แต่ครีมหรือยาทาที่เลือกใช้ต้องไม่มีส่วนประกอบของสารกันเสียและน้ำหอม เพราะอาจจะกระตุ้นห้เกิดอาการแพ้ได้ และไม่ควรทาหนาเกินไปเพราะอาจจะเกิดความเหนอะหนะและอาจจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ การทาครีมให้ความชุ่มชื้นนี้สามารถทาร่วมกับยาชนิดอื่นได้

3. การรักษาด้วยยา
3.1 ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ : จะช่วยลดการอักเสบได้เร็วและป้องกันการกำเริบของผื่นได้ แต่มีข้อเสียคือ
  • หากใช้ไปนานๆจะทำให้ผิวหนังบาง, เส้นเลือดฝอยแตก
  • มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ง่ายขึ้น
  • ถ้าทาหนามากหรือใช้ยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์แรง อาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing’s syndrome)

ดังนั้นควรเริ่มใช้จากยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อนๆ ก่อนและค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นเพิ่มขึ้นถ้าไม่ได้ผล , เลือกใช้ยาสเตียรอยด์ที่มีความเข้มข้นเหมาะสมกับบริเวณที่ทา เช่น ผื่นที่หน้าจะใช้ยาที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าผื่นที่ลำตัว เพราะผิวหนังบางกว่า จึงมีโอกาสซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น, ควรทาบางๆ บนผื่นแพ้ วันละ 2-3 ครั้ง ไม่ควรทาบนผิวหนังปกติ เพราะไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดผื่น
3.2 ถ้าผิวหนังอักเสบเป็นมากหรือรอยโรคกระจายหลายแห่ง อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ แทนการทาเฉพาะที่
3.3 ในระยะที่ผิวหนังอักเสบเฉียบพลันที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรรีบใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ เพราะจะยิ่งทำให้บริเวณรอยโรคเฉอะแฉะมากขึ้นและเกิดอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้น ควรทำแผลโดยใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำยาที่มีคุณสมบัติทำให้น้ำเหลืองแห้งตัว เช่น น้ำยา Burrow’s solution หรือ 3% boric acid วางประคบบนผื่นนานครั้งละ 15-30 นาที อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง ประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้น้ำเหลืองตกสะเก็ด เมื่อรอยโรคแห้งลงแล้ว จึงใช้ยาชนิดทาต่อจนหาย
3.4 ถ้ามีอาการคันมาก แพทย์มักจะให้ยากินลดอาการคันกลุ่มแอนติฮีสตามีนร่วมด้วย เพราะการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบลามและเห่อมากขึ้น
3.5 ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฎิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Burrow solution, TA cream, hydroxysine

แหล่งอ้างอิง

  1. อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2545.
  2. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2548.


27 พฤษภาคม 2553 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย