ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 771
Small_font Large_font

โรคผมร่วง (alopecia)

คำจำกัดความ

เส้นผมปกติ มีการเจริญเติบโตเป็นวงจรและจะร่วงจากหนังศีรษะเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นการร่วงของเส้นผมตามธรรมชาติ

คนผมร่วง มักเริ่มต้นจากการสังเกตเห็นผมของตนเองร่วงเป็นหย่อมๆ ที่อ่างล้างหน้า, เวลาลุกจากที่นอนแล้วเห็นเส้นผมบนหมอน, เวลาหวีผม หรือเวลาสระผมแล้วเห็นผมร่วงที่พื้น ต่อมาอาการจะเริ่มรุนแรงมากขึ้น จนเห็นผมร่วงเป็นหย่อมๆ และถ้าเป็นมากอาจหัวล้านทั้งหัวได้
เวลาผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการผมร่วง แพทย์จำเป็นต้องแยกให้ได้ว่า ผมร่วงนั้นเป็นเรื่องปกติที่ผมร่วงไปตามวงจรของเส้นผม หรือเป็นผมร่วงมากกว่าปกติ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องผมร่วง แต่ที่จริงเป็นผมร่วงตามธรรมชาติ (ผู้ป่วยจะมีผมร่วงไม่เกิน 100 เส้นต่อวัน และไม่มีผมร่วงเป็นหย่อม)

อาการ

โรคผมร่วง สามารถแบ่งตามอาการของผู้ป่วยได้เป็น 3 แบบ คือ

  • ผมร่วงเป็นหย่อม (Allopecia areata)
  • ผมร่วมหมดทั้งศีรษะ (Allopecia totalis)
  • ผมร่วงหมดทั้งศีรษะ ร่วมกับมีขนที่อื่นร่วงด้วย เช่น ขนคิ้ว, ขนตาและขนตามตัว (Allopecia universalis)

อาการของผมร่วงในผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผมร่วง อาการผมร่วงของโรคที่พบได้บ่อย เช่น

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) : ลักษณะของผิวหนังบริเวณที่ผมร่วงมักเป็นวงกลมหรือวงรีที่มีขอบเขตชัดเจน ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร, ผิวหนังเรียบเป็นปกติ, สีผิวไม่เปลี่ยนแปลง, บริเวณที่เป็นมักเลี่ยน ไม่มีเส้นผมเหลืออยู่เลย, มักไม่มีอาการปวดหรือคัน อาจพบเพียงหย่อมเดียวหรือหลายหย่อมบนหนังศีรษะก็ได้ บางรายอาจเป็นที่ขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วมด้วย
  • โรคหัวล้านทางพันธุกรรม (androgenetic alopecia) : ในผู้หญิงและผู้ชายจะมีรูปแบบของหัวล้านต่างกัน คือ
    • โรคหัวล้านในผู้ชาย : เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี โดยการลดระดับของแนวผมที่ขมับลงทีละน้อยและหัวเริ่มล้านตั้งแต่บนสุดของหัว บางคนถ้าเป็นรุนแรงอาจหัวล้านทั้งศีรษะได้
    • โรคหัวล้านในผู้หญิง : โดยส่วนใหญ่มักจะหัวล้านบางส่วน โดยมักรักษาแนวผมด้านหน้าไว้ แต่หัวจะไปล้านบริเวณด้านข้างหรือตรงกลางของศีรษะ

สาเหตุ

แบ่งโรคผมร่วงได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.ผมร่วงแบบมีแผลเป็นบนหนังศีรษะ : เช่น

  • เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ เช่น โดยน้ำร้อนลวก, ยืดผมบ่อยๆ, เป็นแผลถูกฟันหรือตีที่หนังศีรษะ, ถูกสารเคมีชนิดกัดผิวหนัง เป็นต้น
  • เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเรื้อน, ซิฟิลิส, กลาก เป็นต้น
  • เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซ้ำบ่อยๆ เช่น โรคเริมหรืองูสวัด
  • ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางจิตใจ ชอบแกะเกาและทำให้หนังศีรษะเป็นแผล

2.ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ : เช่น

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) : ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค แต่จากการศึกษาในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคนี้ เช่น พันธุกรรม (ผู้ป่วยจะมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน) , โรคภูมิแพ้, ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อต้านเส้นผมของตนเอง และภาวะเครียด
  • โรคหัวล้านทางพันธุกรรม (androgenetic alopecia) : เชื่อว่าโรคนี้เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • ผมร่วงจากการถอนผม (Trichotillomania) : ผมร่วงชนิดนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยถอนผมตัวเอง
  • ผมร่วงหลังคลอด (Post partum alopecia) : ผู้ป่วยจะมีผมร่วงประมาณ 2-3 เดือนหลังคลอด ส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติได้เอง ภายใน 3-12 เดือน
  • ผมร่วงจากยาบางชนิด : มักเกิดหลังได้ยาประมาณ 4 วัน – 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการผมร่วงแค่ชั่วคราวและกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดยา เช่น ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่, ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบ, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (warfarin และ heparin), ยากันชัก (valproic acid) เป็นต้น
  • ผมร่วงจากความเครียด (Stress-induced alopecia) : มักเป็นหลังเครียดประมาณ 2-3 เดือน
  • ผมร่วงจากขาดสารอาหาร
  • ผมร่วงจากโรคทางต่อมไร้ท่อบางโรค เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (ผู้ป่วยจะมีอาการผมแห้งและร่วงทั่วๆ ศีรษะ)
  • ผมร่างจากการฉายแสง

การวินิจฉัย

ประวัติ :

  • ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังที่กล่าวมาแล้ว
  • แพทย์จะถามเกี่ยวกับประวัติผมร่วงหรือหัวล้านในครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคหัวล้านทางพันธุกรรม

การตรวจร่างกาย :

  • ตรวจดูที่หนังศีรษะว่าเป็นแผลหรือไม่
  • ตรวจดูลักษณะการกระจายตัวของผม ว่ามีผมร่วงจริงหรือไม่ และเป็นลักษณะใด (ผมร่วงเป็นหย่อม หรือผมร่วมหมดทั้งศีรษะ) และมีขนที่อื่นของร่างกายร่วงร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ขนคิ้ว, ขนตา หรือขนตามตัว
  • ในกรณีที่แพทย์ไม่เห็นลักษณะของผมที่หายไปอย่างชัดเจน แพทย์อาจทำการยืนยันภาวะผมร่วงของผู้ป่วยโดยการทดสอบลองดึงเส้นผม (Hair pull test) โดยแพทย์จะหยิบเส้นผมกลุ่มหนึ่ง (ประมาณ 50-60 เส้น) และลองดึงเบาๆ ทำหลายๆ บริเวณของหนังศีรษะ การแปลผล คือ ถ้ามีผมร่วงติดมือแพทย์มามากกว่า 6 เส้นต่อการดึง 1 ครั้ง แสดงว่าผู้ป่วยน่าจะมีภาวะผมร่วงจริง ในทางกลับกัน ถ้ามีเส้นผมร่วงติดมือมาน้อยกว่า 6 เส้น แสดงว่าผู้ป่วยน่าจะมีภาวะผมร่วงตามธรรมชาติ

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : การวินิจฉัยโรคผมร่วงและหาสาเหตุของโรค ส่วนใหญ่แพทย์สามารถทำได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย มักไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม ยกเว้นบางกรณี เช่น

  • การทดสอบหาชนิดของเชื้อที่หนังศีรษะ : ในกรณีที่สงสัยผมร่วงจากหนังศีรษะติดชื้อ เช่น กลากที่หนังศีรษะ
  • การทดสอบหาโรคที่เกี่ยวข้อง : เช่นการทดสอบดูภูมิต้านทานต่อเชื้อซิฟิลิส หรือการทดสอบหาภาวะภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง (SLE) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

  • ในบางโรคที่สามารถรักษาได้ แต่ถ้ารักษาไม่ทันเวลา อาจทำให้เกิดภาวะหัวล้านอย่างถาวรได้
  • ส่วนใหญ่ภาวะหัวล้าน จะทำให้เกิดผลเสียต่อด้านจิตใจและสังคม คือ ทำให้เกิดความอับอายและสูญเสียความมั่นใจในตนเอง

การรักษาและยา

การรักษาผมร่วง แบ่งออกได้เป็น

  • การให้ยาบางชนิด เช่น Minoxidil,Finasteride, ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • การผ่าตัด : เพื่อลดรอยแผลเป็นบนหนังศีรษะ หรือเพื่อปลูกถ่ายหนังศีรษะใหม่
  • การใช้วิก หรือใช้สไตล์การแต่งผมที่เหมาะสม

การรักษาอาการผมร่วง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค จะยกตัวอย่างบางโรคที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) : ผู้ป่วยผู้ใหญ่มีโอกาสที่ผมจะขึ้นได้เอง ร้อยละ 10 ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผมร่วงแค่แห่งเดียวหรือไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นครั้งแรก มีโอกาสที่ผมจะขึ้นเองได้สูง ดังนั้นอาจไม่ต้องรักษาอะไร แต่ถ้าต้องการรักษา จะใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โดยรูปแบบของยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เช่น ถ้าเป็นแค่ไม่กี่หย่อม อาจใช้ยาสเตียรอยด์ทาเฉพาะที่ ถ้ายังไม่ขึ้นอาจต้องฉีดยาสเตียรอยด์เช้าไปในบริเวณที่ผมร่วง แต่ถ้าเป็นมากหรือเป็นหมดทั้งศีรษะ จะรักษาโดยการให้กินยาสเตียรอยด์ระยะสั้นๆ
  • โรคหัวล้านทางพันธุกรรม (androgenetic alopecia) : อาจรักษาโดยการใส่ผมปลอม, ผ่าตัด หรือการรักษาด้วยยา เช่น ยา Minoxidil (ยาออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือด ในปัจจุบันใช้เป็นยากินลดความดันโลหิต แต่ยังไม่รู้กลไกการออกฤทธิ์เรื่องผมงอก ดังนั้นไม่ควรใช้รูปแบบยากิน เพราะยาออกฤทธิ์ลดความดันโลหิตและอาจทำให้ขนขึ้นมาที่บริเวณอื่นด้วย ในปัจจุบันใช้ในรูปแบบยาทาบนหนังศีรษะ จะช่วยให้เลือดมาเลี้ยงหนังศีรษะมากขึ้นหรือยาอาจไปกระตุ้นให้ต่อมผมโตมากขึ้น) และ Finasteride (ออกฤทธิ์ลดฮอร์โมนเพศเพศชายแอนโดรเจนในร่างกาย ใช้เฉพาะในผู้ชาย การกินยานี้ในผู้หญิงไม่ค่อยได้ผล ยกเว้นผู้หญิงคนนั้นผมบางจากการที่มีฮอร์โมนเพศเพศชายแอนโดรเจนในร่างกายมากผิดปกติ)

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Minoxidil, Finasteride

แหล่งอ้างอิง

1.อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์ บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้ : สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. 2545, 160-167.
2.ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 150-171.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย