ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2205
Small_font Large_font

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)

คำจำกัดความ

ตับอ่อน(pancreas) เป็นต่อมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านหลังของกระเพาะอาหาร ใกล้กับลำไส้เล็กส่วนต้น

ตับอ่อนมีหน้าที่ คือ

  • 1. หลั่งน้ำย่อยเข้าไปช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก ผ่านทางท่อตับอ่อน หรือที่เรียกว่า pancreatic duct ซึ่งน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนเป็นน้ำย่อยที่ทำหน้าที่สำคัญในการย่อยสลายสารอาหารกลุ่มไขมัน, โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต โดยปกติน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนจะยังไม่ออกฤทธิ์ จนกว่าจะถูกหลั่งเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัม จึงจะเริ่มทำหน้าที่ย่อยสารอาหารดังกล่าว
  • 2. สร้างฮอร์โมนอินสุลินและกลูคากอน แล้วหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้เข้าไปในกระแสเลือด เพื่อทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด

โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreaitis) เกิดจากตับอ่อนถูกทำลายหรือถูกย่อยด้วยน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนเอง ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกหรือสาเหตุการเกิดโรคนี้ที่ชัดเจน

โรคตับอ่อนอักเสบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • 1. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)
  • 2. ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis)

อาการ

ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดท้อง : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องที่บริเวณลิ้นปี่อย่างรุนแรงเกิดขึ้นทันทีทันใด อาการปวดมักร้าวทะลุไปกลางหลังและปวดอยู่ตลอดเวลา อาการปวดมักเป็นมากขึ้นในท่านอนราบ และอาการปวดจะดีขึ้นในท่านั่งโน้มตัวไปข้างหน้า
  • คลื่นไส้อาเจียนแต่ไม่ค่อยมีน้ำย่อยออก
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • มีไข้
  • ในรายที่อาการรุนแรง อาจปวดหรือร่างกายขาดน้ำ จนถึงขั้นช็อคและหมดสติได้

สาเหตุ

โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • 1. การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ (สุรา, เบียร์, ไวน์, เป็นต้น) ปริมาณมาก : เกิดจากกลไกหลายอย่างร่วมกัน คือ แอลกอฮอล์ ที่ดื่มเข้าไปอาจไปทำลายเนื้อเยื่อตับอ่อนโดยตรง หรือไปกระตุ้นฮอนโมนบางตัวในร่างกาย ทำให้ตับอ่อนขับน้ำย่อยมากขึ้น จนทำให้น้ำย่อยที่มากเกินกลับมาย่อยทำลายเนื้อตับอ่อนเอง หรือเกิดจากแอลกอฮอล์ไปทำให้ปลายของท่อน้ำย่อยตับอ่อนก่อนที่จะเข้าไปในลำไส้เล็กเกิดจากหดตัวมากผิดปกติ ทำให้ท่อน้ำย่อยตับอ่อนอุดตันและน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนท้นกลับมาย่อยทำลายเนื้อเยื่อของตับอ่อนเอง สาเหตุนี้พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันทั้งหมด

  • 2. นิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี : เกิดจากก้อนนิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดีหลุดไปอุดตันที่ปลายทางของท่อน้ำย่อยตับอ่อน ก่อนที่จะเข้าไปในลำไส้เล็ก ทำให้ท่อน้ำย่อยตับอ่อนอุดตัน ส่งผลให้น้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนท้นกลับมาย่อยทำลายเนื้อเยื่อของตับอ่อนเอง สาเหตุนี้พบได้ประมาณร้อยละ 35 ของผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันทั้งหมด แต่อาการเหล่านี้มักพบแค่ชั่วคราว หากแก้ปัญหาเรื่องนิ่วในถุงน้ำดีและทางเดินน้ำดีได้ อาการตับอ่อนอักเสบก็จะหายไปในที่สุด

สาเหตุที่เหลือ พบได้น้อยมาก เช่น

  • 3. เกิดตามหลังการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสคางทูม (mumps), พยาธิตัวกลม (ascaris lumbricolides)
  • 4. ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย (metabolism) เช่น การมีแคลเซียมสูง (Hypercalcemia), การมีไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hyperlipidemis)
  • 5. เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide หรือ furosemide, ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Tetracycline, ยาสเตียร์รอย เป็นต้น
  • 6. เกิดจากการกระทบกระแทกที่เนื้อตับอ่อนโดยตรง ทำให้เกิดภาวะอักเสบที่ตับอ่อนตามมา เช่น ถูกกระแทกอย่างรุนแรงที่หน้าท้องด้านบน
  • 7. เกิดตามหลังการผ่าตัดบริเวณใกล้เคียงกับตับอ่อน ทำให้เนื้อเยื่อตับอ่อนถูกกระทบกระเทือน, หรือเกิดตามหลังการส่องกล้องเข้าไปดูทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)
  • 8. เกิดขึ้นเอง โดยไม่พบสาเหตุ (idiopathic)

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย : ส่วนใหญ่จะพบลักษณะของผู้่ปวยดังต่อไปนี้

  • 1. สัญญาณชีพ : มีไข้, ชีพจรเต้นเร็ว, หายใจเร็ว, ความดันโลหิตต่ำหรือช็อค
  • 2. การตรวจบริเวณหน้าท้อง : มีอาการท้องอืดเล็กน้อย, มีอาการกดเจ็บและหน้าท้องแข็งเกร็งทั่วท้อง แต่อาการมากที่สุดที่บริเวณหน้าท้องด้านบนหรือลิ้นปี่
  • 3. ถ้าเป็นมานานหลายวัน อาจพบรอยจ้ำเลือดที่บริเวณรอบสะดือและบริเวณสีข้างได้
  • 4. พบอาการที่เฉพาะเจาะจงกับบางสาเหตุ : ในรายที่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี อาจพบมีภาวะเหลืองร่วมด้วยได้, รายที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปริมาณมากและนาน อาจพบอาการจากภาวะตับแข็งได้, ส่วนรายที่เกิดจากการมีไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง อาจพบก้อนเนื้อเยื่อสีเหลืองที่เกิดจากไขมันมาสะสมที่บริเวณหน้าและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้(Xanthoma)

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ประกอบด้วย

  • 1. การตรวจเลือด : ประกอบด้วย
  • 1.1 การตรวจเม็ดเลือด : พบเม็ดเลือดขาวในเลือดสูงขึ้น แสดงถึงภาวะอักเสบและติดเชื้อในร่างกาย, ในรายที่มีภาวะขาดน้ำ อาจพบความเข้มข้นเลือดเพิ่มขึ้นได้
  • 1.2 การตรวจพบน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนสูงขึ้นในกระแสเลือด : เกิดจากน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนรั่วเข้าสู่กระแสเลือดในช่วงที่มีเนื้อเยื่อของตับอ่อนเกิดการอักเสบ น้ำย่อยที่ตรวจประกอบด้วยน้ำย่อยอะมัยเลส (amylase, ทำหน้าที่ย่อยสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต) และน้ำย่อยไลเปส (lipase, ทำหน้าที่ย่อยสารอาหารประเภทไขมัน)
  • 1.3 ในรายที่รุนแรง อาจพบน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และแร่ธาตุแคลเซียมในเลือดต่ำได้
  • 1.4 ในรายที่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี อาจพบค่าการทำงานของตับผิดปกติได้

  • 2. การตรวจทางรังสีวิทยา ประกอบด้วย
  • 2.1 การตรวจเอ็กซเรย์บริเวณหน้าท้อง : จะพบลักษณะบางอย่างที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยในการตัดโรคอื่นที่เป็นสาเหตุของอาการปวดท้องได้ เช่น ภาวะลำไส้ทะลุ เป็นต้น
  • 2.2 การตรวจอัลตร้าซาวน์ : ถ้าพบนิ่วในถุงน้ำดี จะช่วยให้นึกถึงโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันจากนิ่วในถุงน้ำดีและท่อน้ำดี แต่ถ้าผลตรวจปกติ ไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  • 2.3 การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ : ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเพื่อการวินิจฉัยโรค แต่จะทำเฉพาะรายที่มีอาการรุนแรงมากและรายที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดตามหลังภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ดังที่จะกล่าวต่อไป

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามหลังภาวะตับอ่อนอักเาบเฉียบพลัน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน : ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะขาดสารน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำหรือเกิดภาวะช็อค, ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว, ภาวะไตวาย หรือปอดล้มเหลวตามมา
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามมาทีหลัง : อาจพบถุงน้ำเทียมภายในเนื้อเยื่อตับอ่อน (pseudopancreatic cyst)หรือมีฝีหนองที่ตับอ่อน (Pancreatic abscess) จะสงสัยภาวะเหล่านี้ในกรณีที่ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยไป 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น ยังมีไข้และปวดท้อง , ตรวจเลือดยังพบน้ำย่อยที่สร้างจากตับอ่อนสูงในกระแสเลือด เป็นต้น การวินิจฉัยภาวะเหล่านี้ ต้องทำการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องเพิ่มเติม

การรักษาและยา

ส่วนใหญ่แพทย์จะรับผู้ป่่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค, ติดตามความเปลี่ยนแปลงของอาการ และทดแทนสารน้ำทางหลอดเลือดให้ทันท่วงที
การรักษาประกอบด้วย
การรักษาด้วยยา : การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไปประกอบด้วย

  • 1. การงดน้ำและอาหารทุกชนิด : เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นตับอ่อนในการผลิตน้ำย่อยออกมาย่อยอาหาร จะช่วยลดการอักเสบได้
  • 2. การใส่ท่อทางจมูกเข้าไปถึงกระเพาะอาหาร เพื่อไประบายลมในกระเพาะอาหาร : จะช่วยให้ท้องอืดแน่นท้องและคลื่นไส้อาเจียนลดลง รวมทั้งช่วยลดการหลั่งสารจากกระเพาะอาหารมากระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตน้ำย่อย
  • 3. รักษาสมดุลของร่างกาย ทั้งความดันโลหิต, ปริมาณสารน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
  • 4. การให้สารอาหารทดแทนทางหลอดเลือดดำ
  • 5. ให้ยาแก้ปวดแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ
  • 6. ให้ยาปฎิชีวนะ ในรายที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
  • 7. ให้ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจในรายที่มีอาการรุนแรงเสื่องต่อการช็อคหรือมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ
  • 8. ให้คำแนะนำเรื่องการปฎิบัติตัวแก่ผู้ป่วย ทั้งในขณะที่เป็นตับอ่อนอักเสบ และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค เช่น การหยุดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

การผ่าตัด : ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย แต่จะพิจารณาทำในกรณีต่อไปนี้

  • 1. ไม่สามารถตัดโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัดออกได้ เช่น ภาวะลำไส้ทะลุ
  • 2. เนื้อตับอ่อนถูกทำลายมากและมีการติดเชื้อแทรกซ้อน (necrotizing pancreatitis) ไม่สามารถรักษาโดยการรักษาประคับประคองอย่างเดียวได้
  • 3. ในรายที่เกิดจากนิ่วในท่อน้ำดี : ควรได้รับการรักษาโดยการส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดี (ERCP) เพื่อขจัดนิ่วในท่อน้ำดี

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย pethidine

แหล่งอ้างอิง

1.วันชัย เดชสมฤทธิ์ฤทัย, รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ และอภิรดี ศรีวิจิตรกมล, บรรณาธิการ. อายุรศาสตร์ทันยุค 2552 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่1. 2552, 302-310.
2.วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์4. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 80-86.
3.ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546, 616-619.



04 มิถุนายน 2553 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย