ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 2204
Small_font Large_font

หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media)

คำจำกัดความ

หูของคน แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
1. หูส่วนนอก (External ear) : ประกอบด้วย

  • ใบหู (Pinna) : มีหน้าที่ในการรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่างๆ ส่งเข้าสู่รูหู
  • ช่องหูหรือรูหู (Auditory canal) : เป็นส่วนที่อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงเยื่อแก้วหู ทำหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง ในรูหูมีขนและต่อมสร้างขี้หู ทำหน้าที่สร้างขี้หูไว้ดักฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในรูหู ปกติในรูหูของเราจะทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาพที่แห้ง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หูของเราสัมผัสความชื้น เช่น ว่ายน้ำมากเกินไป หรือการปั่นหู ที่ทำให้เยื่อบุรูหู ถลอก จะทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • แก้วหูหรือเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane หรือ ear drum) : มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่สั่นสะเทือนเมื่อมีเสียงมากระทบและส่งต่อการสั่นสะเทือนไปยังหูชั้นกลาง

2. หูส่วนกลาง (Middle ear) : เป็นส่วนที่ถัดจากแก้วหูเข้ามา ภายในมีกระดูก 3 ชิ้น ทำหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วจึงส่งต่อการสั่นสะเทือนเข้าสู่หูส่วนใน
3. หูส่วนใน (Inner ear) อยู่ถัดจากหูส่วนกลางเข้ามา ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ส่งต่อสัญญาณเสียงไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของสิ่งที่ได้ยิน และทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัว

โรคหูชั้นกลางอักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลาง พบบ่อยในวัยเด็กตอนต้น (เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี) และมักพบร่วมหรือหลังจากมีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน เนื่องจากเป็นวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วย เช่น เป็นหวัดได้ง่าย ร่วมกับท่อยูสเซเชี่ยน (เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังช่องจมูก ทำหน้าที่ปรับความดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันบรรยากาศ) ยังอยู่ในแนวราบ ทำให้เชื้อโรคจากโพรงหลังช่องจมูกที่ทำให้เกิดหวัด แพร่กระจายไปยังหูชั้นกลางได้ง่าย ในขณะที่เมื่ออายุมากขึ้น ท่อยูสเซเชี่ยนจะอยู่ในแนวตั้งมากขึ้น ทำให้เชื้อโรคจากโพรงหลังช่องจมูกแพร่กระจายไปยังหูชั้นกลางได้ยากขึ้น จึงพบโรคนี้ได้ลดลง

โรคหูชั้นกลางอักเสบ แบ่งตามระยะเวลาที่ป่วยเป็นโรคได้ 3 ระยะ คือ

  • โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) : เป็นโรคนี้น้อยกว่า 3 สัปดาห์
  • โรคหูชั้นกลางอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (subacute otitis media) : เป็นโรคนี้นาน 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
  • โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis media) : เป็นโรคนี้นานมากกว่า 3 เดือน

อาการ

ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ : จะมาพบแพทย์ด้วยอาการ

  • ปวดหู
  • มีไข้
  • รู้สึกว่ามีอะไรขวางกั้นในหูหรือหูอื้อ
  • สูญเสียการได้ยินชั่วคราว
  • มีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู

ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะที่ยังพูดไม่ได้ จะต้องสังเกตจากพฤติกรรมอื่นๆ แทน เช่น

  • บ่นว่าเจ็บหรือปวดหู
  • ดึงหูตนเองบ่อยๆ
  • มีไข้
  • มีของเหลวไหลออกจากหู
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • การได้ยินมีปัญหา เช่น เรียกแล้วไม่หัน
  • หงุดหงิดง่ายผิดปกติ

สาเหตุ

โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลาง ส่วนใหญ่เกิดร่วมกับหรือหลังจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน แล้วเชื้อโรคจากโพรงหลังช่องจมูกที่ทำให้เกิดหวัด แพร่กระจายมายังหูชั้นกลาง

เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ เกิดจาก

  • เชื้อไวรัส : พบได้ร้อยละ 10-40 ของผู้ป่วยโรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สามารถหายจากโรคได้เอง ไม่จำเป็นต้องได้ยาฆ่าเชื้อ
  • เชื้อแบคทีเรีย : เช่น Streptococcus pneumoniae, hemophilus influenzae, moraxella catarrhalis เป็นต้น

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังกล่าว

การตรวจร่างกาย :

  • มีไข้ : มักเป็นไข้สูง มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • ใช้เครื่องมือส่องดูหู (Otoscope) : จะพบลักษณะที่แสดงถึงการอักเสบในหูชั้นกลาง คือ ระยะแรกอาจพบแค่เยื่อแก้วหูแดงๆ แต่ถ้าเป็นมากขึ้นจะเห็นเยื่อแก้วหูขุ่น (จากมีหนองอยู่ในหูชั้นกลาง) หรือเห็นน้ำอยู่หลังเยื่อแก้วหูและอาจดันจนเยื่อแก้วหูโป่งพองออกมาทางด้านนอกได้
  • ใช้กล้องส่องหูชนิดเป่าลมได้ (Pneumatic otoscope) : ตรวจโดยส่องดูหูและพ่นลมให้กระทบที่เยื่อแก้วหู ในภาวะปกติเยื่อแก้วหูจะขยับได้เล็กน้อย แต่ถ้ามีของเหลวในหูชั้นกลาง จะพบว่าเยื่อแก้วหูไม่ขยับเลย

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม : ไม่ต้องทำทุกราย อาจพิจารณาทำในรายที่อาการรุนแรงจนเยื่อแก้วหูทะลุและมีน้ำหรือหนองไหลออกมาอยู่ในหูชั้นนอก แพทย์มักจะเชื้อสำลีเช็ดเอาน้ำหรือหนองเหล่าน้ำไปเพาะเชื้อ เพื่อหาชนิดของเชื้อสาเหตุและดูความไวต่อยาของเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่โรคหูชั้นกลางอักเสบจะหายได้เองหลังจาก 3 วันโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าหากเป็นอยู่นานหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • เยื่อแก้วหูฉีกขาด : ทำให้สูญเสียการได้ยิน
  • เกิดเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (chronic otitis media) : การติดเชื้อเรื้อรัง ทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ (มาพบแพทย์ด้วยอาการมีหนองไหลออกจากหูเรื้อรัง) และเชื้อโรคจะไปทำลายกระดูกหูบางส่วน ทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือสูญเสียการได้ยิน แต่ผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้และไม่ค่อยปวดหู
  • หนองแตกทะลุจากกระดูกหูที่บริเวณท้ายทอย (mastoid bone) และเซาะไปเกิดเป็นหนองที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ ( Bezold’s abscess) และหนองใต้เยื่อหุ้มกระดูก (subperiosteal abscess) โดยเฉพาะบริเวณหลังหู
  • การติดเชื้อลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน ทำให้ท่อในหูชั้นในที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวเกิดการอักเสบ (Suppurative labyrinthitis)
  • การติดเชื้อลามจากหูชั้นกลาง ขึ้นไปทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง (Meningitis) หรือเกิดเป็นฝีหนองในสมอง (epidural or subdural or brain abscess)

การรักษาและยา

การรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ประกอบด้วย
1. การรักษาตามอาการ เช่น

  • ให้ยาแก้ปวด ทั้งกลุ่มพาราเซตามอลหรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ให้ยาลดน้ำมูกและแก้คัดจมูก ในรายที่เป็นหวัดร่วมด้วย

2. การให้ยาปฏิชีวนะ : ยาปฏิชีวนะที่เลือกใช้ คือ amoxicillin แต่ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยโรคหูชั้นกลางอักเสบทุกราย เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน ดังนั้นจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ให้ยาปฏิชีวนะเลยตั้งแต่ครั้งแรกที่มาพบแพทย์ : ได้แก่
    • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
    • เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี แต่มีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือปวดหูมาก
    • เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี ที่ไม่สามารถมาติดตามอาการซ้ำได้ที่ 2-3 วันต่อมา
    • เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี ที่มาติดตามอาการซ้ำที่ 2-3 วันต่อมา แล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • กลุ่มที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การให้ยาปฏิชีวนะ : แพทย์จะให้การรักษาตามอาการก่อน แล้วนัดมาติดตามอาการซ้ำใน 2-3 วันถัดมา

3. การดูดของเหลวในหูชั้นกลางออก : เพื่อบรรเทาอาการปวด

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Amoxicillin and Clavulanate (Amoxycillin and Clavulanate), Amoxicillin หรือ Amoxycillin, Ibuprofen, Paracetamol,

แหล่งอ้างอิง

1. พรรณทิพย์ ฉายากุล, ชิษณุ พันธุ์เจริญ และคณะ, บรรณาธิการ. ตำราโรคติดเชื้อ. สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. 2548, 149-161.
2.สุภาวดี ประคุณหังสิต, บรรณาธิการ. ตำราโสต ศอ นาสิกวิทยา. กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. 2537, 81-92.
3. พิชิต สิทธิไตรย์, สายสวาท ไชยเศรษฐ และสุวิชา อิศราดิสัยกุล, บรรณาธิการ. ตำราหู คอ จมูก สำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. เชียงใหม่ : ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2553, 245-256.
4. เสาวรส อัศววิเชียรจินดา, บรรณาธิการ. โรคหู. กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. 2537, 57-60.
5. กรีฑา ม่วงทอง, ประสิทธิ์ มหากิจ เจริญ และคณะ, บรรณาธิการ. ตำราโรคหู คอ จมูก. กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์. 2548, 99-108.



27 พฤษภาคม 2553 31 มกราคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย