ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 1757
Small_font Large_font

ปวดท้อง (abdominal pain)

คำจำกัดความ

อาการปวดท้อง (Abdominal pain) หมายถึง ความรู้สึกไม่สุขสบายที่บริเวณต่างๆ ของช่องท้อง ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ทั้งตำแหน่งที่ปวด, ลักษณะอาการปวด, ความรุนแรงของอาการปวด และอาการร่วม เป็นต้น อาการปวดท้องเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยๆ
ภายในช่องท้อง ประกอบด้วยอวัยวะหลายอย่าง เช่น หลอดอาหารส่วนปลาย, กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็กและใหญ่, ตับ, ถุงน้ำดี, ตับอ่อน เป็นต้น เมื่อมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่อวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแบบไม่ชัดเจนก่อน (visceral pain) คือ ปวดตื้อๆ และบอกตำแหน่งที่ปวดไม่ได้ชัดเจน โดยมักปวดในแนวกลางของช่องท้อง เนื่องจากเส้นประสาทที่รับความรู้สึกของอวัยวะในช่องท้องจะมีลักษณะเป็นขยุ้มร่างแห มารวมตัวกันที่ผิวหน้าท้อง ทำให้บอกได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อพยาธิสภาพนั้นลุกลามออกมาจนถึงชั้นนอกของเยื่อบุช่องท้อง จะทำให้เกิดอาการปวดท้องที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น (parietal pain) คือ อาการปวดสามารถชี้เฉพาะตำแหน่งได้ชัดเจน

สาเหตุ

อาการปวดท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง และอวัยวะนอกช่องท้องเองก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ สามารถแบ่งตามกลุ่มการเกิดโรคได้เป็น
1. โรคทางศัลยกรรม : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องแบบทันทีทันใด, ลักษณะอาการปวดเป็นแบบแหลมๆ , อาการปวดท้องค่อนข้างรุนแรง และมีอาการเป็นอยู่นาน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากศัลยแพทย์ แต่ไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดทุกราย คือ บางโรคอาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว เช่น ลำไส้แตก แต่บางโรคในระยะแรกสามารถรักษาแบบประคับประคองโดยการกินยาและรักษาตามอาการได้ แต่เมื่อตัวโรคเป็นมากจึงจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด ตัวอย่างโรค เช่น

  • การอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง (Inflammation) : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแบบตื้อๆ บอกตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน, อาการปวดค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย และปวดคงที่ ไม่ค่อยมีช่วงที่หายปวด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis), ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis), ตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) เป็นต้น
  • การอุดตันของอวัยวะที่เป็นท่อกลวงในช่องท้อง (Obstruction) : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องแบบบีบๆ มวนๆ ในท้อง อาการเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักกระสับกระส่ายไปมาเพื่อหาท่าที่ปวดน้อยที่สุด เช่น ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction), นิ่วในท่อปัสสาวะ (ureteric stone) เป็นต้น
  • อวัยวะในช่องท้องขาดเลือด (Ischemia) : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบตื้อๆ, อาการปวดค่อนข้างรุนแรงและปวดคงที่ตลอดเวลา เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงลำไส้ ทำให้เกิดลำไส้ขาดเลือด (Mesenteric ischemia)
  • มีการแตกทะลุของอวัยวะในช่องท้อง (Perforation) ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องด้านนอก (peritonitis) : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องรุนแรงทั่วท้องและปวดตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยมักจะนอนนิ่งๆ ไม่ค่อยอยากขยับ เพราะถ้าขยับจะปวดมากขึ้น โรคกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น กระเพาะอาหารทะลุ (peptic ulcer perforation), ลำไส้อุดตันจนขาดเลือดและแตกทะลุ (strangulated bowel with bowel perforation), ถุงน้ำดีติดเชื้อเป็นหนองและแตก(emphyema gallbladder) เป็นต้น

2. โรคทางอายุรกรรม : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง และมักมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดท้อง ตัวอย่างโรคแบ่งตามอวัยวะ เช่น

  • โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด : เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ได้ โดยเฉพาะคนสูงอายุ, ผู้หญิงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • โรคระบบทางเดินอาหาร : เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis), กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเฉียบพลัน (acute gastroenteritis), ตับอักเสบ (hepatitis), ตับเป็นฝีหนอง (liver abscess) เป็นต้น
  • โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ : เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis), กรวยไตอักเสบจากการติดเชื้อ (acute pyelonephritis) เป็นต้น
  • โรคของระบบเลือด : เช่น มาลาเรีย
  • โรคของระบบเผาผลาญของร่างกาย : เช่น ภาวะกรดยูเรียคั่งในร่างกาย จากไตวาย (uremia), น้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน (ketoacidosis) เป็นต้น

3. โรคทางสูตินรีเวช : ผู้ป่วยเป็นผู้หญิงที่ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลันจากพยาธิสภาพที่อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงในอุ้งเชิงกราน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

  • โรคที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy), แท้งบุตร (abortion) เป็นต้น
  • โรคทางนรีเวช เช่น ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease), ถุงน้ำที่รังไข่แตก (rupture ovarian cyst), ถุงน้ำที่รังไข่บิดขั้ว (Twist ovarian cyst ) เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการปวดท้อง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการปวดท้องและรักษาอย่างเหมาะสม แต่ความเร่งด่วนในการไปพบแพทย์อาจไม่เหมือนกัน เช่น

  • ถ้ามีอาการปวดท้องขึ้นมาอย่างทันทีทันใด, อาการปวดรุนแรง และปวดอยู่ตลอดเวลา —> ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุที่ต้องรีบรักษาโดยการผ่าตัด
  • ถ้ามีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ, ปวดเป็นอยู่นาน แต่อาการปวดไม่รุนแรงมาก —> ควรหาเวลาไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของโรค

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย

แหล่งอ้างอิง

1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552, 225-230.
2. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, วัชรา บุญสวัสดิ์, กาญจนา จันทร์สูง, บรรณาธิการ. อาการวิทยาทางอายุรศาสตร์ Symptomatology in general medicine. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่3. 2540, 351-362.
3. ทวี ศิริวงศ์ , บรรณาธิการ. คู่มือเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่2. 2550, 34-36.



07 มีนาคม 2554 29 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย