อ. จูเลียน ตัว (Julian Tang) ที่ปรึกษาหน่วยจุลชีววิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า การไอแต่ละครั้งทำให้เกิดละอองฝอยมีเชื้อโรคได้มากจนถึง 3,000 หยด และมีไวรัสกระจายไปได้มากจนถึงเกือบ 20,000 ตัว (อยู่ในช่วง 195–19,500 ตัว) Reuters รายงาน
ละอองฝอย (droplet) จากการไอมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1–5 ไมโครเมตร (micrometers = 1 ในล้านเมตร = 1 ไมครอน = 1/1,000 มิลลิเมตร)
ละอองฝอยจากอาการไอมีขนาดไม่เท่ากัน... ละอองฝอยขนาดใหญ่มีจำนวนไวรัสภายในอยู่มากก็จริง ทว่า... จะตกลงบนพื้นเร็ว ละอองขนาดเล็กหน่อยมีแนวโน้มจะ ”ลอย” ในอากาศ และแพร่กระจายเชื้อโรคไปได้ไกลมากกว่า
ถ้าอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น นอกห้องแอร์ ลมพัดผ่านดี ฯลฯ โอกาสติดเชื้อโรคทางการหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ จะต่ำ
ตรงกันข้าม... ถ้าเข้าไปในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือมีคนอยู่แออัด เช่น ห้องแอร์ ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง ฯลฯ โอกาสติดเชื้อทางการหายใจจะสูง
วิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่ดีคือ คนไข้ควรปิดปากจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู (ใช้แล้วทิ้ง) หรือท่อนแขน
ไม่ควรใช้มือปิดปากเวลาไอหรือจามด้วยมือ เนื่องจากอาจติดเชื้อชนิดใหม่จากมือได้ ทำให้ป่วยนาน หรือป่วยซ้ำซาก
เชื้อหวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายมักจะเปื้อนมือ และเปื้อนไปบนของทุกอย่างที่มือจับ เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ โต๊ะทำงาน ฯลฯ
เมื่อคนเราสัมผัสของใช้ต่าง ๆ ก็จะได้รับเชื้อ... วิธีป้องกันที่ดีมาก ๆ คือ การล้างมือด้วยสบู่ หรือถูมือด้วย
เจลแอลกอฮอล์ก่อนกินอาหาร ก่อนดื่มน้ำ ก่อนเข้าบ้าน (เพื่อป้องกันคนในบ้านติดโรค) ก่อนนอน ก่อนถูจมูกหรือสัมผัสใบหน้า และหลังใช้ห้องน้ำ
ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนาน ๆ ครับ
ภาพจาก Flickr.com