เมื่อเร็ว ๆ นี้ Reuters รายงานว่า ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรัง หรือมีปัญหาในการนอนหลับในรูปแบบต่าง ๆ อาจเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองโดยการคิดสั้น แม้ว่าบุคคลเหล่านี้ไม่เคยมีอาการทางจิตเลยก็ตาม
ปัญหาด้านการนอนหลับนั้นสามารถจำแนกอาการออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การตื่นก่อนเวลาอันควร (ทำให้ชั่วโมงการนอนหลับลดน้อยลง – ผู้เขียน) อาการหลับยาก หรือการนอนแต่ไม่สามารถหลับลงได้ อาการเหล่านี้ส่งผลถึงการคิด การวางแผน และการพยายามที่จะจบชีวิตโดยการคิดสั้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้ที่มีอาการทั้งสองอย่าง หรือมากกว่าตามที่กล่าวมาข้างต้น มีโอกาสที่จะคิดฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาด้านการนอนหลับถึง 2. 6 เท่า
การวิจัยในครั้งนี้มีนัยยะสำคัญต่อการสาธารณสุข เกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับของผู้ป่วย และเหล่าแพทย์ควรให้ความสำคัญ ในผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะคิดสั้น แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางจิตมาก่อนเลย
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างหญิงชายชาวอเมริกัน จำนวน 5,692 ราย พบว่า หนึ่งในสามกลุ่มตัวอย่าง มีปัญหาการนอนหลับอย่างน้อย 1 อาการ ต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ซึ่งได้แก่ อาการนอนหลับยาก อาการห่วงกังวลในขณะหลับ หรือการตื่นก่อนเวลาอย่างน้อยประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากตัดปัจจัยเช่นภาวะความกดดัน อิทธิพลของอายุ เพศ สถานภาพสมรส และสถานะทางการเงินไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญพบว่า โอกาสในการคิดสั้นมีความสัมพันธ์กับการนอนน้อยเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ เคยคิดหรือวางแผนที่จะฆ่าตัวตายมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง และมีผู้เคยพยายามคิดสั้นประมาณสามครั้ง
นักวิจัยยังไม่แน่ชัดนัก สำหรับผลกระทบต่อระบบการรับรู้ การตัดสินใจที่ขาดการยั้งคิด และความท้อแท้สิ้นหวังที่เพิ่มขึ้นจากการขาดการนอนหลับอย่างเพียงพอ โดยอาจเป็นเพราะความความผิดปกติทางเคมีของสารสื่อประสาท Serotonin ในสมอง
การค้นพบครั้งนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ และลดพฤติกรรมเสี่ยงในการคิดสั้นของคนไข้ได้
ภาพจาก Flickr.com