“อาการข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยาคุมกำเนิด มักจะเกิดในช่วง 3 เดือนแรกของการใช้ยาคุมกำเนิด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการหยุดใช้ยา”
เลือดออกกะปริดกะปรอย
อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดแต่ไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกายและอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเองหลังจากที่รับประทานยาคุมกำเนิดจนครบ 3 แผงแรก
แต่ในกรณีที่รับประทานยาคุมกำเนิดครบ 3 แผงแรกแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น สาเหตุอาจเนื่องมาจาก
- ยาคุมกำเนิดมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโพรเจสเทอโรน น้อยไป
- ยาคุมกำเนิดมีปริมาณฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน สูงและมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ
การแก้ไข ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาให้เปลี่ยนยา
คลื่นไส้ อาเจียน
เป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนพบได้บ่อยในช่วง 2-3 เดือนแรกของการรับประทานยาคุมกำเนิด
การแก้ไข 1. รับประทานยาหลังอาหารเย็น หรือก่อนนอน จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้
2. ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาให้ยาต้านอาเจียนในบางรายที่จำเป็น
3. ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาให้เปลี่ยนยา หากไม่สามารถทนอาการนี้ได้
น้ำหนักตัวเพิ่ม
เกิดจากผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำให้มีการคั่งของน้ำและฮอร์โมนโพรเจสทินที่มีฤทธิ์ในการดูดน้ำกลับ
การแก้ไข 1. ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำ
2. ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสทิน ชนิดดรอสไพรีโนน (drospirenone) ซึ่งมีฤทธิ์ลดการคั่งของน้ำและเกลือ
แต่ปัญหาการเพิ่มของน้ำหนักตัว ก็มีปัจจัยอื่นที่มีผลร่วมด้วย เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และอายุที่เพิ่มขึ้น
ประจำเดือนไม่มา
ต้องมีการพิจารณาก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เป็นอาการข้างที่เกิดขึ้นจากการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือเป็นผลจากภาวะตั้งครรภ์ โดยอาจพิจารณาว่า
- รับประทานยาคุมกำเนิดไม่ครบ ไม่ถูกต้อง หรือลืมรับประทานยาหรือเปล่า
- รับประทานยาอื่นร่วมด้วยซึ่งมีผลลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด
- มีอาเจียนหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดหรือเปล่า
หากมีการกระทำและอาการตามเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ก็ควรคำนึงว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ อาจใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ในการตรวจสอบ แต่หากไม่มีการกระทำและอาการตามเงื่อนไขนี้ อาจเป็นอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นภาวะปกติและไม่มีอันตรายใดๆ
การแก้ไข ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นและโพรเจสทินลดลง
ความดันโลหิตสูง
ยาคุมกำเนิดส่งผลให้มีความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการคั่งของน้ำและเกลือ โดยที่ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่หลังจากที่หยุดยา 3-6 เดือน ความดันโลหิตจะกลับสู่ปกติ
การแก้ไข 1. ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำ
2. ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
3. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นที่มีผลเพิ่มความดันโลหิต เช่น การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่มีเกลือมากแต่ในกรณีผู้ที่มีความดันโลหิตเพิ่มสูงมาก ควรมีการพิจารณาให้หยุดใช้ยารับประทานคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
ปวดศีรษะ
อาจพบอาการปวดศีรษะไมเกรน และที่มิใช่เกิดจากไมเกรนบ่อยขึ้น
การแก้ไขในกรณีปวดศีรษะไมเกรน
1. ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณของฮอร์โมนต่ำเสริมในช่วงที่ไม่ได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน (hormone-free interval) หรือช่วงรับประทานเม็ดแป้ง
2. แพทย์ หรือเภสัชกรอาจพิจารณาให้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกัน 3 แผงโดยไม่ต้องเว้นช่วงที่ไม่ได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน หรือรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกัน 3 แผงโดยไม่ต้องรับประทานเม็ดแป้ง
การแก้ไขในกรณีที่ปวดศีรษะที่มิใช่ไมเกรน
1. รับประทานยาบรรเทาอาการปวด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดยาและไปพบแพทย์ หรือเภสัชกร
อ้างอิง
1. The World Health Organization (WHO), Family Planning: A Global Handbook for Providers, Baltimore, USA, 2007.
2. World Health Organization. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, Second edition, Department of Reproductive Health and Research Family and Community Health. Geneva, 2004