ค้นหายา:
อ่าน: 353

Adapalene (เอดาพาลีน)

คำอธิบายพอสังเขป

เอดาพาลีน (adapalene) ใช้สำหรับรักษาสิว ออกฤทธิ์โดยการป้องกันการอุดตันของรูขุมขน เอดาพาลีน (adapalene) ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาเอดาพาลีน (adapalene) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

-

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์ ประเภท 'C' หมายถึง

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในสตรีมีครรภ์ ไม่แนะนำการใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะเคยมีรายงานว่าการใช้เอดาพาลีน (adapalene) ในขนาดสูงทำให้กระดูกของตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลองมีปัญหา ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากท่านกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์

กำลังให้นมบุตร

ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเอดาพาลีน (adapalene) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้หรือไม่

เด็ก

ยานี้ยังไม่มีการศึกษาในเด็กจึงไม่มีข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงในการเปรียบเทียบการใช้เอดาพาลีน (adapalene) ในเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีกับช่วงอายุอื่นๆ

ในวัยรุ่นคาดว่าจะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่แตกต่างจากที่พบในผู้ใหญ่

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบการทำงานที่แท้จริงของยาว่ามีการทำงานเช่นเดียวกันกับในผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียง, ปัญหาใดๆที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้เอดาพาลีน (adapalene) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ ผู้สูงอายุมักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสิว

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะใช้เอดาพาลีน (adapalene) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • ยาทาอื่นๆที่ทาบริเวณเดียวกับเอดาพาลีน (adapalene)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้เอดาพาลีน (adapalene) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ภาวะผิวหนังอักเสบ (dermatitis), การอักเสบของต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis), โรคแพ้ผื่นคัน (eczema) การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ภาวะโรคดังกล่าวยิ่งแย่ลงหรืออาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะดังกล่าว

การใช้ที่ถูกต้อง

ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งหรือตามที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้มากกว่า, บ่อยกว่าและนานกว่าที่แพทย์สั่ง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้

ไม่ควรทายานี้กับอาการผิวหนังอักเสบเนื่องจากถูกลมแรง (windburned), แสงแดดจัด(sunburned) หรือบริเวณแผลเปิด

ไม่ควรทายานี้บริเวณรอบดวงตา, ริมฝีปากหรือในจมูก ขณะใช้ยานี้ควรทายาให้ห่างจากบริเวณดังกล่าว หากยาสัมผัสบริเวณดังกล่าวควรรีบล้างด้วยน้ำสะอาด

เพื่อช่วยในการรักษาสิว ท่านควรใช้ยาให้ครบตามกำหนด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตามหลังจากใช้ในระยะสั้นๆ หากท่านหยุดใช้ยาเร็วเกินไป อาจกลับมาเป็นสิวได้อีก

ขนาดยา

ขนาดยาของเอดาพาลีน (adapalene) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามใบสั่งยาของแพทย์หรือตามที่ระบุบนฉลากยา

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมใช้ยาให้รีบทายาทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าใกล้ถึงการทายาครั้งต่อไปให้ข้ามไปทายาในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ในช่วง 3 สัปดาห์แรกที่ท่านใช้เอดาพาลีน (adapalene) อาการสิวจะยิ่งแย่ลงก่อนที่จะดีขึ้นในภายหลัง จะเห็นผลในการรักษาเต็มที่เมื่อประมาณสัปดาห์ที่ 12 โดยเฉพาะหากท่านใช้ยาทุกวัน ท่านไม่ควรหยุดใช้เอดาพาลีน (adapalene) หากอาการสิวของท่านแย่ลงในช่วงแรกยกเว้นมีอาการระคายเคืองรุนแรงมาก ควรกลับไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 8–12 สัปดาห์

ควรหลีกเลี่ยงการทาเภสัชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผิวเหล่านี้ในบริเวณเดียวกับที่ทาเอดาพาลีน (adapalene) เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง

  • เภสัชภัณฑ์เกี่ยวกับสิวอื่นๆ หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหนังที่ประกอบด้วยสารกระตุ้นการหลุดลอกของผิวหนังชั้นนอก (peeling agent) เช่น เบนโซอิลเพอรอกไซด์ (benzoyl peroxide), รีซอซินอล (resorcinol), กรดซาลิซิลิก (salicylic acid) หรือซัลเฟอร์ (sulfur) เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผมหรือขนซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้เช่น ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมหรือขน, ผลิตภัณฑ์แวกซ์ขน
  • ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหนังที่ประกอบด้วยแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เช่น ผลิตภัณฑ์กระชับรูขุมขนหรือโลชั่นปรับสภาพผิว, ครีมโกนหนวด, โลชั่นทาหลังโกนหนวด เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหนังที่ทำให้ผิวหนังแห้งเกินไปหรือระคายเคืองผิวหนังมากๆ เช่น เครื่องสำอางบางประเภท, สบู่, ครีมอาบน้ำ เป็นต้น

แพทย์อาจแนะนำท่านให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทารักษาสิวชนิดอื่นๆ ร่วมกับเอดาพาลีน (adapalene) เช่น เบนโซอิลเพอรอกไซด์ (benzoyl peroxide), คลินดาไมซิน (clindamycin), อีริโทรไมซิน (erythromycin) เป็นต้น

หากผิวหนังของท่านแห้งหรือแดงมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าท่านควรใช้เอดาพาลีน (adapalene) ต่อไปหรือไม่ และควรทาครีม, โลชั่นหรือผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง (moisturizer) เพื่อช่วยลดปัญหาผิวดังกล่าว

ในระหว่างการรักษาด้วยยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดและการใช้หลอดไฟเนื่องจากอาจทำให้ผิวยิ่งแสบไหม้หรือระคายเคืองมากขึ้น ควรใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 15 และควรสวมเสื้อผ้า, หมวกเพื่อป้องกันแสงแดดจัด ลมแรงหรืออากาศหนาว

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการข้างเคียงขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงต่อไปนี้เกิดขึ้น

พบบ่อย (โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของการใช้)

  • รู้สึกแสบร้อนผิวหนัง, ผิวหนังบริเวณที่ทายาแห้งและซีดจางลง, ผิวหนังแดง, มีอาการคันที่ผิวหนัง

ข. อาการข้างเคียงอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบน้อยมาก (โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของการใช้)

  • สิวเห่อ

ค. อาการข้างเคียงอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Topical Tretinoin, Isotretinoin, Benzoyl Peroxide, Clindamycin (topical), Erythromycin (topical)

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Differin

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 27-8.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 12, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 639.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

Share |
Payom Wongpoowarak , นรวร เจนณรงค์ , หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ
13 ตุลาคม 2552 22 เมษายน 2553
A B C D E F G H I J K L M
N O P Q R S T U V W X Y Z

เนื้อหาเกี่ยวกับยาทั้งหมดเรียบเรียงโดยเภสัชกรหรือนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การดูแลของเภสัชกร และผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาโดยเภสัชกรอีกอย่างน้อย 1 ท่าน เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ ไม่มุ่งประโยชน์ทางการค้า และไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรแสวงหาผลกำไรใด ๆ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย