ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย/อาการ:
อ่าน: 65

โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis )

คำจำกัดความ

โรคไส้ติ่งอักเสบ คือ ภาวะที่เกิดการอักเสบของไส้ติ่ง (เป็นอวัยวะรูปร่างแท่งคล้ายนิ้วชี้ ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ ที่ตำแหน่งขวาล่างของช่องท้อง ยังไม่รู้หน้าที่ของอวัยวะนี้แน่ชัด แต่ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันไม่พบว่าการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก มีผลเสียต่อร่างกาย) พบได้ในทุกวัย โรคนี้พบได้ทุกอายุ แต่พบบ่อยในช่วงอายุ 10 – 30 ปี ผู้หญิงกับผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่ากัน

อาการ

อาการของโรคนี้ มีดังต่อไปนี้

  • อาการปวดท้อง เป็นอาการแรกของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ โดยลักษณะของอาการปวดในช่วงแรกจะปวดแบบตื้อๆ หรือมวนๆ ที่บริเวณสะดือหรือบอกตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน จากนั้นอีก 4 – 6 ชั่วโมงต่อมา อาการปวดและจุดกดเจ็บจะย้ายมาอยู่ที่ด้านขวาล่าง , ปวดตลอดเวลา ( ไม่มีช่วงที่หายปวด ดังนั้นถ้าปวดเป็นๆหายๆ จะไม่ค่อยเหมือนโรคนี้) , อาการปวดท้องจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น ไอ จาม ขยับตัว เดิน ต้องนอนนิ่งๆ และอาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย จนช่วงหลังจะปวดมากจนกระสับกระส่าย ไม่สามารถจะนั่งหรือหาท่าทางที่ทำให้ปวดน้อยลงได้เลย
  • คลื่นไส้ อาจมีหรือไม่มีอาเจียน
  • เบื่ออาหาร (ถ้ายังกินอาหารได้เท่าเดิม ไม่ค่อยเหมือนโรคนี้)
  • ช่วงแรกจะยังไม่มีไข้ ต่อมา (ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่อาการปวดท้องย้ายมาอยู่ที่ด้านขวาล่าง) จะเริ่มมีไข้ต่ำๆ ไม่หนาวสั่น แต่ถ้าไส้ติ่งแตกหรือเป็นฝีหนองจะมีไข้สูง
  • อาจมีท้องเสีย (ถ่ายเหลว มีมูกแต่ไม่มีเลือดปน หรือถ่ายบ่อยขึ้น) แต่บางคนอาจท้องผูก

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เกิดจาก

  • ไส้ติ่งมีอาการอุดตัน จากเมล็ดผลไม้ อุจจาระที่เป็นก้อนแข็ง พยาธิ
  • มีการติดเชื้อไวรัสหรือการอักเสบของทางเดินอาหาร

ทั้งสองสาเหตุ ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา ส่งผลให้ไส้ติ่งเกิดการอักเสบและเป็นหนองในที่สุด

การวินิจฉัย

  • ซักประวัติอย่างละเอียด
  • ตรวจร่างกาย โดยเน้นที่บริเวณหน้าท้อง ( แพทย์มีความจำเป็นต้องตรวจบริเวณหน้าท้องในตำแหน่งที่ผู้ป่วยมีอาการปวด เพื่อดูว่า สิ่งที่ตรวจพบเข้าได้กับโรคนี้หรือไม่ )
  • เจาะเลือดเพื่อดูว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยการที่มีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นเป็นการบ่งบอกว่ามีภาวะอักเสบติดเชื้ออยู่ภายในร่างกาย
  • ตรวจปัสสาวะ ในโรคนี้ผลการตรวจปัสสาวะจะปกติ แต่การส่งตรวจจะช่วยตัดโรคอื่นที่สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องบริเวณด้านขวาล่างได้เช่นกัน แต่การรักษาแตกต่างกัน เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • รังสีวินิจฉัย เช่น เอกซเรย์หรืออัลตราซาวน์หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่วินิจฉัยได้จากซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นดังกล่าว สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มั่นใจในการวินิจฉัยโรคนี้ จะรักษาโดยใช้วิธีติดตามดูอาการทั้งนัดแบบผู้ป่วยนอกถ้าอาการเหมือนน้อย หรือนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ

แต่จะพิจารณาส่งตรวจทางรังสีวินิจฉัยเฉพาะผู้ป่วยรายที่ไม่มั่นใจในการวินิจฉัยและมีภาวะร่วมอื่นที่ทำให้การผ่าตัดยากขึ้นหรืออาจได้รับผลเสียจากการผ่าตัด ส่งผลให้ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนก่อนที่จะตัดสินใจผ่าตัด เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวมาก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

โรคไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่ไม่อันตรายมากถ้ารักษาโดยการผ่าตัดทันท่วงที แต่ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดหรือผ่าตัดช้า จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนต่อไปนี้ตามมาได้ ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มอัตราตายและทุพพลภาพของผู้ป่วย

**ไส้ติ่งแตก ( Rupture appendix ) : คือ การที่ไส้ติ่งที่อักเสบและมีหนองอยู่ภายในนั้นแตกออก ทำให้หนองและสารต่างๆ ในลำไส้ ออกมาอยู่ในช่องท้อง ทำให้เกิดการติดเชื้อของช่องท้องตามมา มีอาการปวดทั่วท้อง แต่ความรุนแรงของอาการปวดจะน้อยลง ไข้สูงมากขึ้น และอาการโดยรวมของผู้ป่วยแย่ลง

**ไส้ติ่งเป็นฝีหนอง ( Appendical abscess ) : เป็นภาวะที่ไส้ติ่งที่อักเสบ มีผังผืดจากในช่องท้องมาล้อมรอบ และกลายเป็นถุงฝีหนองอยู่ในช่องท้อง ถ้าแตกจะมีการกระจายของเชื้อโรคและทำให้เกิดการติดเชื้อทั่วทั้งช่องท้องซึ่งรุนแรงกว่าไส้ติ่งแตกธรรมดา ผู้ป่วยมีประวัติมีอาการปวดท้องรวมแล้วมากกว่า 3 วัน ยังปวดท้องที่ด้านขวาล่าง ร่วมกับไข้สูงมากขึ้นและอาการโดยรวมของผู้ป่วยแย่ลง

การรักษาและยา

โรคนี้รักษาโดยการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดของการรักษาดังนี้
โรคไส้ติ่งอักเสบ : ผ่าตัดโดยมีแผลผ่าตัดยาวประมาณ 2-4 นิ้วที่บริเวณหน้าท้องด้านขวาล่าง และตัดเอาไส้ติ่งออก หลังจากนั้นนอนโรงพยาบาลต่ออีก 2-3 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถกลับบ้านได้

  • ไส้ติ่งแตก แผลผ่าตัดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกและล้างเอาหนองในช่องท้องออก หลังจากนั้นต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำต่ออีก 5-10 วัน
  • ไส้ติ่งเป็นหนอง ต้องผ่าตัดเพื่อใส่สายระบายหนองอย่างฉุกเฉิน ร่วมกับให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำจนอาการปวดท้องและไข้ดีขึ้น จากนั้นให้กลับบ้านพักฟื้นแล้วนัดมาผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกอีกครั้ง ตอน 8 สัปดาห์ถัดมา

หลังจากผ่าตัดเสร็จและให้กลับบ้านได้ ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติเมื่อแผลหายดี แต่ควร
หลีกเลี่ยงการทำงานหนักก่อนในช่วง 2 -4 สัปดาห์แรกโดยเริ่มจากการทำงานเบาๆ เช่น เดินในระยะทางสั้นๆ จากนั้นค่อยๆเพิ่มความหนักของงานอย่างช้าๆ ตามความพร้อมของร่างกาย นอกจากนี้ ในช่วงแรกหลังผ่าตัดเสร็จ อาจมีอาการปวดแผลผ่าตัดเวลาที่ไอหรือหัวเราะหรือขยับตัว ซึ่งสามารถลดความรุนแรงของอาการปวดและป้องกันแผลผ่าตัดแยกได้โดยการใช้หมอนวางบนหน้าท้องบริเวณแผลผ่าตัดก่อนที่ไอจามหรือหัวเราะหรือขยับตัว

แหล่งอ้างอิง

  1. WWW.mayoclinic.com
  2. ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546; 647 – 658
  3. Sarosi GA, et al. Appendicitis. In: Feldman M, et al. Sleisenger & Fordtran’s Gastrointestinal and Liver Disease: Pathophysiology, Diagnosis, Management. 8th ed. Philadelphia, Pa.: Saunders Elsevier; 2006. http://www.mdconsult.com/das/book/body/147305686-2/0/1389/0.html. Accessed July 1, 2009

Share |

04 มิถุนายน 2553 19 มิถุนายน 2553
A B C D E F G H I J K L M
N O P Q R S T U V W X Y Z

เนื้อหาเกี่ยวกับโรคทั้งหมดเรียบเรียงโดยแพทย์หรือนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การดูแลของแพทย์ และผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาโดยแพทย์อีกอย่างน้อย 1 ท่าน เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ ไม่มุ่งประโยชน์ทางการค้า และไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรแสวงหาผลกำไรใด ๆ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย