Losartan

คำอธิบายโดยสังเขป

โลซาร์แทน (Losartan) จัดอยู่ในกลุ่มยากลุ่มยับยั้งตัวรับแอนจิโอเทนซิน (angiotensin repector inhibitors) หรือเรียกย่อว่า “กลุ่มเออาร์บี (ARBs)” ออกฤทธิ์โดยยับยั้งและแย่งการจับของแองจิโอเทนซิน 2 (angiotensin II) ตรงตำแหน่งที่จะไปออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ส่งผลให้ลดแรงต้านของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวและทำให้ความดันเลือดลดลง ออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น และลดการทำงานของหัวใจ

ยานี้ ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง, ใช้รักษาหรือป้องกันการเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานที่มีประวัติความดันเลือดสูง, ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงและหัวใจห้องล่างซ้ายโต อาจใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหัวใจล้มเหลว และภาวะเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น

ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติหลายประการคล้ายกับยากลุ่มยับยั้งแอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอ็นไซม์ (angiotensin converting enzyme inhibitors) หรือที่เรียกย่อว่า “กลุ่มเอซีอีไอ (ACEIs)” เช่น แคพโทพริล (captopril), อีนาลาพริล (enapril) แต่ต่างกันที่ยากลุ่มเออาร์บีไม่ค่อยทำให้เกิดอาการไอแห้ง ๆ เหมือนกับยากลุ่มเอซีอีไอ ดังนั้นจึงใช้ยากลุ่มนี้แทนยากลุ่มเอซีอีไอในผู้ที่รักษาโรคความดันเลือดสูง, โรคหัวใจล้มเหลว และโรคอื่น ๆ ที่ใช้ยากลุ่มเอซีอีไอรักษาแล้วมีอาการไอแห้ง ๆ
ยานี้ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาความดันเลือดให้หาย เพียงแต่ช่วยควบคุมความดันเลือด เนื่องจากภาวะความดันเลือดสูงที่ไม่ได้รับการควบคุมจะทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง เช่น หัวใจล้มเหลว (heart failure) โรคหลอดเลือด โรคลมที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดสมอง หรือโรคไต

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาโลซาร์แทน (losartan) หริอ ยาอื่นในกลุ่มนี้ หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาโลซาร์แทน (losartan) หรือ ยาในกลุ่มเดียวกัน หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในยานี้ หรือห้ามใช้อีก เมื่อกินยานี้แล้วมีอาการ เช่น ผื่น,คัน, ลมพิษ, ผื่นราบปนกับผื่นนูน (maculopapular rash), มือบวม, หน้าบวม, ปากบวม, เท้าบวม, บวมน้ำกดไม่บุ๋ม (angioedema), หายใจลำบาก, ปฏิกิริยาแอนาฟิแล็กซิส (anaphylactic reactions)

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสมุนไพรบางชนิด เช่น เซนต์เจอห์นเวิร์ท (St John’s wort), โยฮิมบีน (yohimbine), โสม, ชะเอม, อัลฟาฟ่า (alfalfa), มะระ, กระเทียม, ขิง, ส้มแขก, ว่านหางจระเข้

ตั้งครรรภ์

สตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ยานี้ โดยเฉพาะหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรเปลี่ยนไปใช้ยาลดความดันเลือดตัวอื่นที่มีความปลอดภัยระหว่างการตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ควรคุมกำเนิดระหว่างการใช้ยานี้ ในช่วง 3 เดือนแรกจากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ ในช่วงหลังจากสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ข้อมูลในมนุษย์พบว่ายามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ การพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์

ตั้งครรรภ์ไตรมาสที่ 1

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ตั้งครรรภ์ไตรมาสที่ 2

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ตั้งครรรภ์ไตรมาสที่ 3

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

กำลังให้นมบุตร

สตรีให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ ถึงแม้ไม่มีรายงานการขับยานี้ผ่านทางน้ำนมในมนุษย์ แต่มีรายงานการขับยานี้ออกทางน้ำนมหนู การใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตรควรได้รับการปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแล

ผู้สูงอายุ

ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านต้องการจะรับประทานยาโลซาร์แทน (losartan) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • ยาลดความดันกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มยับยั้งเอ็นไซม์แอนจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง (ACE inhibitors) เช่น อีแนลาพริล (enalapril), แคปโทพริล (captopril), รามิพริล (ramipril), เพอรินโดพริล (perindopril), ควินาพริล (quinapril) เพราะจะส่งผลให้เกิดพิษได้
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่มเก็บกักโพแทสเซียม (potassium sparing diuretic) เช่น สไพโรโนแลกโทน (spironolactone), อะมิโลไรด์ (amiloride)
  • กลุ่มยาต้านเชื้อรา (azole antifungal) เช่น คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ไมโคนาโซล (miconazole), ฟลูโคนาโซล (fluconazole)
  • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), แอสไพริน (aspirin), อินโดเมทาซิน (indomethacin), เพียร็อกซิแคม (piroxicam), เซเลโคสิป (celecoxib)
  • ยาอื่น ๆ เช่น เอมิฟอสทีน (amifostine), ลิเทียม (lithium), ริทูซิแมบ (rituximab), ไทรเมโทพริม (trimethoprim), เกลือโพแทสเซียม, เดเฟอราซิรอก (deferasirox), เมทิลเฟนิเดต (methylphenidate), ไรฟาไมซิน (rifamycin)

ยังมียาหลายชนิที่ไม่ควรใช้ร่วมกับ โลซาร์แทน (losartan) ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เด็กที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง
  • ระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะหรือโรคต่อไปนี้:
    – ภาวะความดันเลือดต่ำรุนแรงอาจเนื่องมาจากการขาดน้ำหรือ ปริมาตรเลือดน้อย
    – มีประวัติบวมแบบแองจิโอเอดิมา (angioedema)
    – ภาวะไตบกพร่อง
    – ภาวะตับวายหรือเป็นโรคตับ
    – ผู้มีการหดแคบของเอออร์ตาหรือลิ้นหัวใจตีบ (aortic or mitral valve stenosis)
    – ภาวะเลือดมีโพแทสเซียมมาก หรือ ได้รับเกลือโพแทสเซียม
    – ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายเหตุเลือดคั่งรุนแรง (severe congestive heart failure)
    – เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
    – ผู้สูงอายุ

การใช้ที่ถูกต้อง

  • รับประทานยาได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร ให้รับประทานพร้อมอาหารหากรู้สึกไม่สบายท้อง และอาจรับประทานยาได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร
  • รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวันเป็นประจำ ไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • รับประทานยาและกลืนยาพร้อมน้ำ
  • อาจแบ่งครึ่งเม็ดยา หากไม่สามารถกลืนได้ทั้งเม็ด หรือปรึกษาเภสัชกรในการเตรียมยาเพื่อสามารถให้กลืนยาได้

ขนาดยา

ขนาดยาของยาโลซาร์แทน (losartan) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับสภาวะโรคของท่าน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด

เมื่อลืมใช้ยา

ให้รับประทานทันทีทีนึกได้ ถ้าใกล้เวลาของมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานมื้อถัดไปโดยใช้ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บยาในภาชนะปิดสนิท อย่าให้โดนแสงโดยตรง
  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้องในช่วง 15 ถึง 30 องศาเซลเซียส อย่าเก็บในที่ร้อน ไม่ควรเก็บยาในตู้เย็น
  • เก็บยาในที่แห้ง อย่าเก็บในที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว
  • เก็บยาทุกชนิดให้พ้นสายตาและมือเด็ก หรือสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้รับมา
  • หากมียาเหลือหลังจากแพทย์สั่งให้หยุดใช้ ควรส่งคืนยาแก่เภสัชกร
  • ไม่ใช้ยานี้หลังจากวันหมดอายุ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการทิ้งยานี้

ข้อควรระวัง

  • ยาอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนหรือเวียนศีรษะ ไม่ควรขับขี่ยวดยานหรือทำงานกับเครื่องจักรที่อันตราย และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ระมัดระวังการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เสียเหงื่อมาก ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • ไม่ควรหยุดยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน แม้ว่าจะรู้สึกสบายดีก็ตาม เพราะความดันเลือดสูงมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ และจะมีผลต่อการทำงานของหัวใจและไต
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง หรือเหงื่อออกมาก เนื่องจากการสูญเสียน้ำจากร่างกายมากจะเป็นอันตรายขณะใช้ยานี้ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันการขาดน้ำ

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก.อาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที อาการที่พบ เช่น

  • อาการแพ้ยา โดยมี ผื่น มีอาการบวมของใบบวม ริมฝีปาก ลิ้นบวม ตา มือ เท้า, หายใจลำบาก
  • เวียนศีรษะรุนแรงคล้ายจะหมดสติ, หมดสติ, โคม่า
  • ความคิดสับสน, ชัก, โรคจิตชนิดหวาดระแวง, วิตกกังวล, ซึมเศร้า, ตื่นตระหนก, สูญเสียความจำ,
  • ภาวะเสียการรู้รส, อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
  • มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทส่วนปลาย, ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia), มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน (Parkinson) เช่น สั่น ร่างกายเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ, หัวใจเต้นช้า, เจ็บหน้าอก, ปวดเค้นหัวใจ (angina pectoris), ใจสั่น
  • อัมพฤกษ์
  • มีความผิดปกติของทางเดินหายใจ หายใจลำบาก, ติดเชื้อในทางเดินหายใจ
  • อุจจาระดำหรือมีเลือดออก, ปัสสาวะมีเลือดปน, เหงือกมีเลือดออก, มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง, ผิวหนังเป็นปื้นแดงหรือน้ำเงิน, มีเลือดออกผิดปกติ ตกเลือดกำเดา, ผิวหนังเป็นจ้ำสีม่วง (purpura)
  • มีการสลายของกล้ามเนื้อลาย (rhabdomyolysis) ซึ่งทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และปัสสาวะอาจมีสีคล้ำ
  • มีปัญหาในการมองเห็น, เยื่อตาอักเสบ
  • ปัสสาวะมีเลือดปน, ปัสสาวะลดน้อยลง, ปัสสาวะบ่อย,
  • ตัวเหลืองตาเหลือง
  • ถ่ายปัสสาวะไม่ออกจากภาวะไม่มีปัสสาวะชั่วคราว (transient anuria)
  • มีการตรวจพบ ภาวะหัวใจผิดปกติจากอาทริโอเวนทริคูลาร์ถูกปิดกั้น (second degree atrioventricular block), กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disorder), อาการสมองขาดเลือดชั่วครู่
  • ตรวจพบ เม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดน้อย, เม็ดเลือดแดงต่ำ, โลหิตจาง, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดร้ายแรง (malignant lymphoma)
  • ตรวจพบระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้น ตับอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, เกิดพังผืดที่ตับ, มีการเพิ่มขึ้นของรงควัตถุสีเหลืองจากน้ำดี (บิลิรูบิน)
  • ตรวจพบการทำงานของไตลดลง, ภาวะเลือดมีสารไนโตรเจนคั่ง,

ข. อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง หากเกิดขึ้นอาจไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบ และถ้ามีอาการรุนแรงหรือทนไม่ได้หรือเกิดต่อเนื่อง ให้ไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไมเกรน
  • ปวดหลัง ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ตะคริว ปวดเข่าหรือข้อเท้า ข้อบวม
  • อ่อนเปลี้ย อ่อนแรง เดินเซ รู้สึกหมุน
  • ระคายเคืองในทางเดินอาหาร กระเพาะอักเสบ อาหารไม่ย่อย เรอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
  • การรับรู้รสบกพร่อง
  • ตรวจเลือดพบ เลือดมีโพแทสเซียมมากเกิน (heperkalemia), เลือดมีโซเดียมต่ำ (hyponatremia), น้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia)
  • ความดันเลือดต่ำ ความดันเลือดตกขณะเปลี่ยนท่า
  • เสียงแหบ กระหายน้ำ
  • ประสาทอ่อน (nervousness)
  • รู้สึกเป็นเหน็บที่มือ เท้า หรือ ริมฝีปาก
  • ไอ มีไข้ เจ็บคอ คัดจมูก
  • นอนหลับยาก หรือ ง่วงซึม
  • ความรู้สึกน้อยเกินไป (hypoaesthesia) หรือ ความรู้สึกมากเกินไป (hyperaesthesia)
  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis)
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • ผมร่วง
  • หน้าแดง (flushing)
  • เกาต์ (gout)
  • มีเสียงในหู
  • แสบตา
  • มีน้ำลายน้อยลง ปากแห้ง
  • ผิวหนังไวต่อแสง ผิวแห้ง เหงื่อออกมาก

ค. หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวกับยานี้ ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ความดันเลือดสูงเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลผ่านได้ยากขึ้น ซึ่งปกติเราจะไม่ทราบถึงค่าความดันเลือดที่สูงดังนั้นจำเป็นที่จะต้องตรวจวัดความดันเลือดเป็นประจำ การปล่อยให้มีความดันเลือดที่สูงโดยไม่ได้รับการรักษาสามารถทำให้เกิดการทำลายอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจหรือไตได้ และนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง, อาการหัวใจล้ม (heart attack), ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure), ภาวะไตวาย, ตาบอด โดยการใช้ยาสามารถควบคุมความดันเลือดสูงได้ซึ่งต้องอาศัยแพทย์แนะนำ
  • ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวัดระดับความดันเลือดเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการได้รับยาหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนขนาดยา และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจบางอย่างเพิ่มเช่น ระดับโพแทสเซียม (potassium), ครีแอทินิน (creatinine) เพื่อดูการทำงานของไต หรือ เอนไซม์ตับเพื่อดูการทำงานของตับ
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับค่าความดันเลือดที่เหมาะสมสำหรับท่านและเมื่อใดที่จะต้องมาพบแพทย์ ถ้าท่านมีเครื่องวัดระดับความดันเลือดด้วยตนเองที่บ้าน ท่านควรบันทึกค่าความดันเลือดที่วัดได้เอง และนำค่าที่บันทึกไว้มาให้แพทย์ดู
  • ควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่มีผลช่วยลดความดันเลือด เช่น ลดความเครียด, ออกกำลังกาย, ลดการรับประทานอาหารที่มีเกลือมาก, ลดน้ำหนัก

กลุ่มยา

ชื่อทางการค้า

ยาที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 2 August, 2010.
  2. Cassia, L.A., The renin-angiotensin-aldosterone system and other vasoactive substances, In Modern pharmacology with clinical application, 6th ed, pp. 244-51. Craig C.R. et al., Lippincott Williams & Wilkins, 2003
  3. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com. Access Date: 15 March, 2010.
  4. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook with international trade names index. 18th ed. Ohio: Lexi Comp In; 2009.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Losartan. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

เขียนโดย โพยม วงศ์ภูวรักษ์, panupong puttarak

เขียนเมื่อ 01 Aug 2010 19:08 แก้ไขเมื่อ 15 Oct 2010 13:10

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย