อาการอ่อนแรง (weakness)

คำจำกัดความ

อาการอ่อนแรง (weakness) หมายถึง การที่เราไม่สามารถขยับแขนขาส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน คือ บางรายมีอาการอ่อนแรงแต่ยังพอขยับได้บ้าง (paresis) แต่บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงรุนแรงมาก จนไม่สามารถขยับได้เลย (plegia)

ตำแหน่งของอาการอ่อนแรงมีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค เช่น

  • การอ่อนแรงของแขนหรือขาเพียงข้างเดียว (Monoparesis/monoplegia)
  • การอ่อนแรงของขาทั้ง 2 ข้าง (paraparesis/paraplegia)
  • การอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก คือ ทั้งแขนและขาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย (hemiaresis/hemiplegia)
  • การอ่อนแรงของแขนและขา 3 รยางค์ (triparesis/triplegia)
  • การอ่อนแรงของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง คือ อ่อนแรงทุกรยางค์ (Quadriparesis/Quadriplegia)
  • การอ่อนแรงของแขนทั้ง 2 ข้าง (brachial diparesis/Brachial diplegia)
  • การอ่อนแรงส่วนต้นของแขนและขา (proximal weakness) : ผู้ป่วยจะมีอาการขึ้นลงบันไดลำบาก, นั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นลำบาก, หวีผมลำบาก เป็นต้น
  • การอ่อนแรงส่วนปลายของแขนและขา (distal weakness) : ผู้ป่วยจะมีอาการหยิบจับของได้ลำบาก, เดินแล้วรองเท้าหลุด เป็นต้น

อาการอ่อนแรงของผู้ป่วยบางรายอาจเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่บางรายอาจค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุ

สาเหตุของอาการอ่อนแรงมีได้หลายสาเหตุ และแบ่งกลุ่มของสาเหตุได้หลายแบบ แต่ที่ใช้บ่อย คือ แบ่งตามตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติของระบบประสาท แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. พยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) :
ผู้ป่วยจะมีอาการคือ

  • มีอาการอ่อนแรงเป็นกลุ่มของกล้ามเนื้อ เช่น อ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย หรือขาทั้งสองข้าง
  • มีอาการอ่อนแรงด้านตรงข้ามกับรอยโรค เช่น มีเส้นเลือดสมองตีบที่สมองซีกขวา จะมีอาการอ่อนแรงที่ซีกซ้ายของร่างกาย
  • ช่วงแรกกล้ามเนื้อจะอ่อนปวกเปียก ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นกล้ามเนื้อเกร็งตัว
  • มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
  • ตรวจพบรีเฟล็กของร่างกาย ไวขึ้น
  • ไม่ค่อยพบการลีบของกล้ามเนื้อ
    ตัวอย่างโรคและอาการ ตามตำแหน่งที่เกิดพยาธิสภาพ คือ
  • 1.1 พยาธิสภาพที่สมอง : ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงและชาของแขนและขาซีกเดียวกัน , อาจมีอาการชักร่วมด้วย ถ้ามีรอยโรคที่ผิวสมอง, อาจมีอาการของเส้นประสาทสมองที่เลี้ยงใบหน้าผิดปกติ (เช่น ปิดตาไม่สนิท, มุมปากตก, กรอกตาได้ไม่สุด) ถ้ามีรอยโรคที่ก้านสมอง เป็นต้น ตัวอย่างโรค เช่น เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก, เนื้องอกในสมอง เป็นต้น
  • 1.2 พยาธิสภาพที่ไขสันหลัง : ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงและชาของแขนและขาคนละข้างกัน เช่น อ่อนแรงของขาซีกขวา แต่มีอาการชาของขาซีกซ้าย , จะมีการสูญเสียความรู้สึกของแขนหรือขาเป็นระดับ ตามตำแหน่งของไขสันหลังที่เกิดรอยโรค, มักมีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น ตัวอย่างโรค เช่น เนื้องอกในไขสันหลัง, เนื้องอกนอกไขสันหลัง แต่กดทับไขสันหลัง, อุบัติเหตุ เช่น โดนแทง แล้วแทงโดนไขสันหลังด้วย เป็นต้น

2. พยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system) :
ผู้ป่วยจะมีอาการคือ

  • มีอาการอ่อนแรงเป็นมัดของกล้ามเนื้อ เป็นบริเวณแคบกว่าพยาธิสภาพที่ระบบประสาทส่วนกลาง
  • มีอาการอ่อนแรงด้านเดียวกับรอยโรค เช่น มีความผิดปกติของเส้นประสาทด้านขวา ก็จะมีอาการอ่อนแรงของแขนหรือขาซีกขวาด้วย
  • ตรวจพบกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกตลอด
  • มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง
  • ตรวจพบรีเฟล็กของร่างกาย ช้าลงหรือไม่มีเลย
  • พบกล้ามเนื้อลีบได้บ่อย เป็นรุนแรงและเป็นเร็ว, กล้ามเนื้อมีการสั่นกระตุกเอง
    ตัวอย่างโรคและอาการ ตามตำแหน่งที่เกิดพยาธิสภาพ คือ
  • 2.1 พยาธิสภาพที่ไขสันหลังส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการกำลังของกล้ามเนื้อ (anterior horn cell of spinal cord) : ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงแบบปวกเปียกของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งส่วนต้นและส่วนปลายเท่าๆ กัน ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อฝ่อลีบอย่างมากและกล้ามเนื้อมีการสั่นกระตุกเห็นเป็นคลื่นที่ผิวหนัง โดยไม่มีอาการชาหรือสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกร่วมด้วย ตัวอย่างโรค เช่น การติดเชื้อโปลิโอ (poliomyelitis) ซึ่งปัจจุบันพบโรคนี้ได้ลดลง เนื่องจากมีการรณรงค์เรื่องการรับวัคซีนโปลิโออย่างแพร่หลายมากขึ้น
  • 2.2 พยาธิสภาพที่รากประสาท (nerve root) : ผู้ป่วยมักจะมีอาการทางความรู้สึกนำมาก่อน เช่น ปวดแปล๊บ ร้าวจากคอหรือหลังไปยังแขนหรือขาข้างนั้น และเมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะมีอาการอ่อนแรงและชาตามมา โดยการอ่อนแรงและการรับความรู้สึกที่ผิดปกติ จะกระจายตามบริเวณที่เลี้ยงโดยรากประสาทที่เกิดรอยโรค ตัวอย่างโรค เช่น มีกระดูกสันหลังระดับคอหรือเอวเสื่อม แล้วเกิดกระดูกงอกไปทับรากประสาท (spondylosis) หรือกระดูกที่เสื่อมเกิดการเคลื่อนที่ไปทับรากประสาท (spondylolisthesis) , มีหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปทับเส้นประสาท (prolapsed disk) เป็นต้น
  • 2.3 พยาธิสภาพที่เส้นประสาท (nerve) : ผู้ป่วยจะมีอาการชาและอ่อนแรงเฉพาะที่ของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง ตามเส้นประสาทที่ไปเลี้ยง ไม่ได้มีอาการทั้งแขนหรือขา โดยอาการชาจะมีเด่นที่ส่วนปลาย ลักษณะคล้ายใส่ถุงมือหรือถุงเท้า ส่วนอาการอ่อนแรงจะเด่นที่กล้ามเนื้อส่วนปลายมากกว่ากล้ามเนื้อส่วนต้น (เช่น มีอาการหยิบจับของได้ลำบาก, เดินแล้วรองเท้าหลุด) และที่ขาจะมีอาการมากกว่าที่แขน ร่วมกับตรวจพบว่ามีรีเฟล็กลดลง แต่ไม่ค่อยมีอาการกล้ามเนื้อลีบ ตัวอย่างโรค เช่น เส้นประสาทถูกกดทับ (เช่น เป็นโรคผังผืดทับเส้นประสาทที่บริเวณข้อมือ จะมีอาการชาที่ปลายนิ้วหรือนิ้วอ่อนแรง), ได้รับบาดเจ็บเฉพาะที่ (เช่น ถูกฟันหรือแทงบริเวณเส้นประสาท), มีเนื้องอกที่เส้นประสาท (neuroma) เป็นต้น
  • 2.4 พยาธิสภาพที่ปลายเส้นประสาทก่อนจะไปสั่งการที่กล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction) : ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงเป็นพักๆ ส่วนใหญ่อาการอ่อนแรงเป็นมากขึ้นตอนใช้งาน เมื่อพักแล้วอาการจะดีขึ้น การอ่อนแรงมักเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนต้นของแขนขา (ผู้ป่วยจะมีอาการขึ้นลงบันไดลำบาก, นั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นลำบาก, หวีผมลำบาก เป็นต้น) และกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ที่ใบหน้า (เช่น กล้ามเนื้อหนังตา ทำให้มีอาการหนังตาตก, กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กลอกลูกตา ทำให้มีอาการมองเห็นภาพซ้อน, กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการกลืน ทำให้กลืนลำบากหรือสำลัก) ตัวอย่างโรค เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมัยแอสทีเนีย เกรวิส (Myastenia gravis) เป็นต้น
  • 2.5 พยาธิสภาพที่กล้ามเนื้อ : ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต้นมากกว่ากล้ามเนื้อส่วนปลาย และมักเป็นที่แขนหรือขาทั้งสองข้างเท่าๆ กัน โดยไม่มีอาการสูญเสียการรับรู้ความรู้สึก, ไม่มีกล้ามเนื้อลีบ และรีเฟล็กของร่างกายปกติ ตัวอย่างโรค เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชน (Duchenne muscular dystrophy) เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการอ่อนแรง หรือสูญเสียความรู้สึก ไม่ว่าเป็นที่ใดของร่างกาย หรือเป็นแค่ชั่วครู่แล้วอาการดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการอ่อนแรง แต่ความเร่งด่วนของการไปพบแพทย์อาจแตกต่างกัน เช่น

  • ถ้ามีอาการแขนขาอ่อนแรงอย่างทันทีทันใดหรือเป็นมากจนขยับแขนขาไม่ได้เลย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมและรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเนื้อสมองตายจากการขาดเลือด
  • ถ้ามีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ปลายมือปลายเท้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรืออาการอ่อนแรงเป็นๆ หาย ๆ ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

อ้างอิง

1. ชุษณา สวนกระต่าย, กมล แก้วกิติณรงค์, กมลวรรณ จุติวรกุล, บรรณาธิการ. Manual of medical diagnosis. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2552, 42-56.
2. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, วัชรา บุญสวัสดิ์, กาญจนา จันทร์สูง, บรรณาธิการ. อาการวิทยาทางอายุรศาสตร์ Symptomatology in general medicine. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่3. 2540, 69-78.
3. ทวี ศิริวงศ์ , บรรณาธิการ. คู่มือเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่2. 2550, 50-54.

เขียนโดย พญ.ธารีรัตน์ อนันต์ชัยทรัพย์, นพ.ธีรภาพ ลิ่วลักษณ์

เขียนเมื่อ 06 Mar 2011 16:03 แก้ไขเมื่อ 29 Mar 2011 22:03

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย