ไข้ (Fever)

คำจำกัดความ

อุณหภูมิปกติของร่างกายเรา อยู่ที่ 36-37.8 องศาเซลเซียส (หรือ 96.8 – 100 องศาฟาเรนไฮน์) เมื่อวัดอุณหภูมิทางปาก (ถ้าวัดอุณหภูมิทางรักแร้ ต้องบวกอุณหภูมิที่วัดได้เข้าไปอีก 0.5 องศาเซลเซียส)
ภาวะไข้ (Fever) คือ การที่วัดอุณหภูมิทางปากได้ค่ามากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส

สาเหตุ

ภาวะไข้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามระยะเวลาที่มีไข้ คือ
1. ภาวะไข้เฉียบพลัน (Acute fever) : คือ การมีไข้ระยะเวลาน้อยกว่า 2 สัปดาห์ แบ่งสาเหตุออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1.1 เกิดจากการติดเชื้อ : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย แบ่งโรคติดเชื้อได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

  • 1.1.1 โรคติดเชื้อที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง : ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงของการติดเชื้อที่อวัยวะนั้นๆ ชัดเจน ตัวอย่างโรค เช่น
    • ไข้หวัดธรรมดา : มีอาการน้ำมูก, คัดจมูก
    • ทอนซิลอักเสบหรือคออักเสบ : มีอาการเจ็บคอ, ไอ, มีเสมหะ
    • ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ : มีอาการไอแบบมีเสมหะ, หายใจเหนื่อย
    • ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ : มีอาการปวดมวนท้อง, ถ่ายเหลว, อุจจาระมีมูกเลือดปน, คลื่นไส้อาเจียน
    • ตับอักเสบ: มีอาการไข้, ปวดท้องด้านขวาบน, คลื่นไส้อาเจียน, ตัวเหลืองตาเหลือง
    • กรวยไตอักเสบ : มีอาการไข้สูง, คบื่นไส้อาเจียน, ปวดหลัง, ปัสสาวะแสบ ขัด ขุ่น
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ : มีอาการไข้, ปวดศีรษะมาก, คอแข็ง
    • ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ : มีอาการปวด, บวม, แดง, ร้อนที่ข้อ ร่วมกับขยับข้อลำบาก
  • 1.1.2 โรคติดเชื้อทั่วร่างกาย : ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงของการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ ให้เห็น แต่จะมีอาการแสดงของการติดเชื้อทั่วๆ ร่างกาย คือ ไข้, ปวดเมื่อยตามตัว, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, เบื่ออาหาร และเพลียมาก ตัวอย่างโรค เช่น
    • ไข้เลือดออก : มีอาการไข้สูงลอย (กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลงเลย หรือไข้ลดลงแต่พอหมดฤทธิ์ยาก็มีไข้ขึ้นอีก), คลื่นไส้อาเจียน, เบื่ออาหาร, ปวดเมื่อยตามตัวมาก, ปวดศีรษะ, ปวดท้องด้านขวาบนหรือลิ้นปี่, อาจมีผื่นขึ้นตามตัว
    • ไข้หวัดใหญ่ : มีอาการคล้ายไข้หวัด คือ ไอ, น้ำมูก, คัดจมูก, เจ็บคอ ร่วมกับมีไข้สูง, ปวดเมื่อยตามตัวมากทั้งตัว, ปวดศีรษะ, ปวดรอบกระบอกตา, เพลีย, มักไม่ค่อยมีผื่นตามตัว
    • ไข้มาลาเรีย : มีอาการไข้และหนาวสั่น ในช่วงสัปดาห์แรกอาจเป็นไข้สูงลอยและหนาวสั่นไม่เป็นเวลา แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สองของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้จับสั่นเป็นเวลา เช่น มีอาการวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน
    • ไข้รากสาดใหญ่ : ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นเกษตรกร หรือไปเดินตามทุ่งหญ้ามาก่อน หลังจากนั้นจะมีอาการไข้สูงลอย, คลื่นไส้อาเจียนมาก, มีผื่นเป็นจุดสีดำคล้ายบุหรี่จี้ ไม่เจ็บตามที่อับ ใต้ร่มผ้า (เช่น ข้อพับ, ขาหนีบ เป็นต้น)
    • โรคฉี่หนู : ผู้ป่วยมักมีประวัติเดินลุยน้ำขัง เช่น น้ำท่วม หรือไปเที่ยวล่องแก่ง หลังจากนั้นจะมีอาการไข้สูง, ปวดเมื่อยและกดเจ็บกล้ามเนื้อมากทั้งตัว โดยเฉพาะที่น่องและต้นคอ, มีตาแดง, ตัวเหลืองตาเหลือง
    • ภาวะติดชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด : ผู้ป่วยมักเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ (เช่น อายุมาก, มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงและหนาวสั่น

1.2 ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่มีภาวะอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย : เช่น

  • โรคเก๊าท์
  • โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
  • เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง เช่น จากอุบัติเหตุ

2. ภาวะไข้เรื้อรังหรือไข้ไม่ทราบสาเหตุ : คือ ผู้ป่วยที่มีไข้นานมากกว่า 3 สัปดาห์ และได้รับการนอนโรงพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติมเป็นเวลานาน 1 สัปดาห์แล้วยังไม่พบสาเหตุของไข้ สาเหตุของไข้ในกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่เหมือนภาวะไข้เฉียบพลัน คือ
2.1 เกิดจากการติดเชื้อ : โรคติดเชื้อที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้อยู่นาน เช่น

  • วัณโรค : มีอาการไอเริ้อรัง, ไอมีเสมหะ อาจมีเสมหะปนเลือด, ไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะตอนกลางคืน, น้ำหนักลด
  • เป็นฝีหนองที่อวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะตับและม้าม
  • ติดเชื้อเอดส์
    2.2 ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ : แบ่งโรคออกได้เป็นกลุ่มย่อย คือ
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งตับ เป็นต้น
  • โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง (SLE), โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • เกิดหลังจากได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาฆ่าเชื้อหลายชนิด, ยากันชัก phenytoin, ยาลดความดันโลหิต hydralazine และ methyldopa, ยารักษาวัณโรค isoniazid เป็นต้น  การรักษาไข้จากยานี้ ทำได้โดยการหยุดยาเหล่านี้ แล้วไข้จะลดลงภายใน 72 ชั่วโมง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ถ้าคุณมีอาการไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยความเร่งด่วนในการไปพบแพทย์อาจไม่เหมือนกัน คือ

  • ผู้ป่วยไข้เฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ดังนั้นจึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะรายที่เบื่ออาหาร กินน้ำได้น้อย เพราะอาจมีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำช่วย , รายที่อาการรุนแรง เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม
  • ผู้ป่วยไข้เรื้อรัง ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ เพราะบางสาเหตุของไข้เรื้อรังเป็นโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งหรือโรคเอดส์

อ้างอิง

1. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ, วัชรา บุญสวัสดิ์, กาญจนา จันทร์สูง, บรรณาธิการ. อาการวิทยาทางอายุรศาสตร์ Symptomatology in general medicine. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่3. 2540, 107-118.
3. ทวี ศิริวงศ์ , บรรณาธิการ. คู่มือเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก. ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่2. 2550, 37-40.

เขียนโดย พญ.ธารีรัตน์ อนันต์ชัยทรัพย์, นพ.ธีรภาพ ลิ่วลักษณ์

เขียนเมื่อ 18 Mar 2011 19:03 แก้ไขเมื่อ 29 Mar 2011 22:03

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย