ค้นหายาสมุนไพร
โกฐหัวบัว : Chuanxiong (川芎)
โกฐหัวบัว หรือ ชวนซฺยง คือ เหง้าแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ligusticum chuanxiong Hort. วงศ์ Umbelliferae [1]
โกฐหัวบัว (ทั่วไป) [2, 3]
ชวนซฺยง (จีนกลาง), ชวนเกียง (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Szechwan Lovage Rhizome [1]
Rhizoma Chuanxiong [1]
เก็บเกี่ยวเหง้าสดในฤดูร้อนเมื่อตาของลำต้นเริ่มเห็นเป็นตุ่มชัดเจนและมีสีม่วงอ่อน ๆ แยกลำต้น ใบ และดินออก นำไปตากในที่ร่มจนตัวยาแห้งประมาณร้อยละ 50 แล้วนำไปปิ้งไฟอ่อน ๆ จนกระทั่งแห้ง แยกเอารากฝอยทิ้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้วิธีที่ 1 โกฐหัวบัว เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาแช่น้ำสักครู่ ล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นบาง ๆ และนำไปทำให้แห้ง [1, 4]วิธีที่ 2 โกฐหัวบัวผัดเหล้า เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมเหล้าเหลืองปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้จนกระทั่งเหล้าแทรกซึมเข้าในเนื้อตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยามีสีเหลืองอมน้ำตาล นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้เหล้าเหลือง 10 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 4]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องเป็นแว่นขนาดใหญ่ อวบอิ่ม เนื้อแข็ง มีกลิ่นหอมฉุน และมีน้ำมันมาก [5]
โกฐหัวบัว รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ช่วยการไหลเวียนของชี่และเลือด รักษาอาการปวดจากเลือดคั่ง กระจายการตีบของเส้นเลือด (ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ปวดประจำเดือน ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด เจ็บชายโครง เจ็บบริเวณหัวใจ เจ็บหน้าอก เจ็บจากการฟกช้ำ ช้ำบวมจากฝีหนอง) และมีฤทธิ์ขับลม บรรเทาปวด รักษาอาการปวดศีรษะ อาการปวดจากการคั่งของชี่และเลือด [1, 4] โกฐหัวบัวผัดเหล้า จะช่วยนำตัวยาขึ้นส่วนบนของร่างกาย มีฤทธิ์แรงในการระงับปวด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและชี่ภายในร่างกายดีขึ้น โดยทั่วไปใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากการคั่งของเลือด และโรคไมเกรน [4]
โกฐหัวบัว มีกลิ่นหอม รสมัน สรรพคุณแก้ลมในกองริดสีดวง และกระจายลมทั้งปวง (หมายถึงลมที่คั่งอยู่ในลำไส้เป็นตอน ๆ ทำให้ผายหรือเรอออกมา) ยาไทยมักไม่ใช้โกฐหัวบัวเดี่ยว แต่มักใช้ร่วมกับยาอื่นในตำรับ [3]
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]
สารสกัดน้ำเมื่อให้ทางปากหนูขาวในขนาดเทียบเท่าผงยา 25-50 กรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์สงบประสาท และจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในหนูถีบจักร สารสกัดมีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด6 โกฐหัวบัวในขนาดต่ำ ๆ มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกของกระต่าย แต่เมื่อให้ในขนาดสูงจะยับยั้งการบีบตัวอย่างสมบูรณ์ [7]
โกฐหัวบัวมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด8 บรรเทาอาการปวดหลังคลอด ช่วยให้รกหรือเนื้อเยื่อของมดลูกที่ตายแล้วถูกขับออกมาได้ดี สารสกัดมีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของมดลูก ทำให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ขณะมีอาการปวดประจำเดือน หรือโรคที่เกี่ยวกับการตกเลือดอื่น ๆ [3]
การศึกษาพิษเฉียบพลันโดยฉีดสารสกัดน้ำเข้าช่องท้องและกล้ามเนื้อหนูถีบจักร พบว่าขนาดของสารสกัดที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 65.86 และ 66.42 กรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ9 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากเหง้าโกฐหัวบัว พบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง [10]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
Huang KC. The pharmacology of Chinese herbs. 2nd ed. Boca Raton: CRC Press, 1993.
Bensky D, Gamble A. Chinese herbal medicine: Materia medica, Revised edition. Washington: Eastland Press, 1993.
Ye DJ, Zhang SC, Huang WL, Pan SH, Gong QF, Chen Q. Processing of traditional Chinese medicine. 7th ed. Shanghai: Publishing House of Shanghai College of Traditional Chinese Medicine, 2001.
Li R. Rhizoma Chuan Xiong. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ). ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2553